รู้แล้วหรือยังว่า แม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายภาษี ล้านละ 5000 บาท

รู้แล้วหรือยังว่า แม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายภาษี ล้านละ 5000 บาท

กลายเป็นประเด็นทันที เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ 

พูดง่ายๆ ก็คือ การแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากร โดยกำหนดให้ สถาบันการเงิน ต้องส่งข้อมูลของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชี ในการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกินปีละ 3,000 ครั้ง หรือการฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง ที่มียอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ให้กรมสรรพากรตรวจสอบ เพื่อเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง

กฎหมายฉบับนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักมาก ว่า...ไม่เป็นธรรมกับบรรดาพ่อแม่พี่น้องที่มีอาชีพค้าขาย โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่กำลังเป็นธุรกิจที่ฮิตติดลมบน จนคาดกันว่าจะมีมูลค่าการค้าขายไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาทในปีนี้ และจะทะลุ 5 ล้านล้านบาทในปี 64

จนกรมสรรพากรเองต้องรีบชี้แจงแถลงไขว่า...การแก้ไขกฎหมาย ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีเท่านั้น และยังเป็นการรองรับการทำธุรกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การให้ผู้จ่ายเงินสามารถเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายผ่านตัวกลาง อย่างสถาบันการเงิน เท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น...ผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรในภายหลังอีก ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบการเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่ากรมสรรพากรจะจ้องรีดภาษีกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ไม่เพียงเท่านี้ กรมสรรพากรยังย้ำว่า ก่อนแก้ไขกฎหมาย ก็มีการเปิดประชาพิจารณ์ มีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการพินิจพิเคราะห์ พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ

แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด!!! การจัดเก็บภาษีก็เพื่อให้รัฐมีรายได้ที่จะนำไปใช้ในการจัดบริการสาธารณะให้กับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นการรายงานธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคลไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นอกจากนี้หากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้ มีประวัติทางการเงินที่โปร่งใสถูกต้อง ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือได้รับสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มขีดความสามารถมากขึ้นไปอีก

และใช่ว่าเงินที่รับ-โอนผ่านบัญชีหรือผ่านสถาบันการเงิน จะต้องเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์ เพราะยังมีเงินได้อีกมากมายไม่ได้เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินกู้ยืม การรับเงินที่ฝากไปทำบุญแทน อะไรเทือกนี้ต่างหาก

นอกจากนี้ข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับ ก็ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะหลับหูหลับตาแล้วเรียกเก็บภาษีทันทีซะเมื่อไหร่ โดยข้อมูลที่สถาบันการเงินรายงานให้ทราบ ก็ต้องนำไปวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ของผู้เสียภาษีอีก ก่อนนำไปจัดกลุ่ม จัดประเภทการดูแลให้ถูกต้องต่อไป

ข้อมูลของกรมสรรพากรที่ชี้แจงกันออกมา ฟังๆ ดูแล้วก็ดูสวยหรู เพราะสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี แถมยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีอีกต่างหาก ก็ยุคนี้สมัยนี้อะไรๆ ก็ไปเร็วมาเร็ว ตามยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้นแหล่ะ

คาดกันว่ากฎหมายฉบับนี้ น่าจะประกาศใช้เพื่อเริ่มเก็บข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 นี้เป็นต้นไป และให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกภายในเดือนมี.ค.63

แต่ก็เอาเถอะ...ต่อให้กรมสรรพากรชี้แจงอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายก็หนีไม่พ้นที่ต้องเสียภาษีตามหน้าที่อยู่ดี อย่าลืมว่าตามปกติผู้มีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2-8) ที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่ว่า ผู้ที่มีอาชีพอิสระต้องเสียภาษีแบบเหมาจ่ายในอัตรา 0.5% ของรายได้ หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีรายได้ถึงเกณฑ์เข้าบัญชี 2 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 10,000 บาท หรือล้านละ 5,000 บาท

แต่ ณ เวลานี้ ตามฐานข้อมูลของกรมสรรพากรเองพบว่า คนไทยเวลานี้มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 4-5 แสนบาท หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 26,000 บาท ซึ่งก็ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ไม่ต้องเข้าเกณฑ์เสียภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาจึงเป็นเพียงการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแล ในการตรวจสอบเท่านั้น ใครที่ทำถูกต้องก็ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ใครที่หลบเลี่ยงไม่เสียภาษีให้ถูกต้องก็อาจมีหนาว

เอาเป็นว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมา ก็เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีเท่านั้น ไม่ได้เรียกเก็บภาษีเพิ่มอะไร ก็ใจเย็นกันไว้เถอะหากเสียภาษีถูกต้องก็ไม่ต้องกังวล.

ขอบคุณแหล่งที่มา : กรมสรรพากร

โดย :
 5446
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

หากคุณกำลังต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจ E-commerce เพื่อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากศูนย์หรือเปลี่ยนจากธุรกิจ Offline มาเป็น Online คุณจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง Business Model ของธุรกิจ หรือรูปแบบการขาย การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตของธุรกิจคุณเอง
ทำไมต้องมีเว็บไซต์ ในยุคที่ Facebook กำลังครองเมือง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าออนไลน์ทั่วไปหรือธุรกิจ SME ทุกคนต่างจะมุ่งเน้นไปที่ Facebook ก่อนอันดับแรก และละเลยที่จะต้องมีเว็บไซต์ อ้าวแล้วจะให้ทำเว็บไซต์ไปทำไม สู้เอาเงินไปโปรโมทเพจเฟสบุ๊คไม่ดีกว่าหรอ วันนี้จะบลอกว่าทำไมถึงต้องมีเว็บไซต์

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์