มีผู้ประกอบการมากมายที่ถามว่าการสร้างเว็บไซต์ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องทำอย่างไร ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการอยากได้คำตอบที่ดีที่สุดแล้วล่ะก็ ก็ต้องย้อนถามตัวผู้ประกอบการเองว่า "แล้วเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นนั้นทำให้ใครดู?"
เชื่อว่าคำตอบของผู้ประกอบการทั้งผู้ที่มีเว็บไซต์แล้วและผู้ที่กำลังจะมีเว็บไซต์ก็คงจะไม่ได้ต่างกัน ซึ่งคำตอบนั้นก็คือ
"ผู้บริโภค" นั่นเอง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้หัวใจสำคัญการสร้างเว็บไซต์ธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้สร้างแต่กลับแปรผันตามความต้องการของผู้บริโภคเสียมากกว่า โดย Mr. Monte Enbysk บรรณาธิการอาวุโสของ Microsoft Office Live ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการทำเว็บไซต์สำหรับโลกธุรกิจได้บอกเล่าผ่านประสบการณ์การทำงานมาหลายสิบปีถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคที่คาดหวังจะได้จากเว็บไซต์ โดยความต้องการหลักๆ นั้นมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. ข้อมูลกิจการ ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าตัวตนที่แท้จริงของธุรกิจของผู้ประกอบการคืออะไร และนำจุดนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนทั้งในส่วนของการนำเสนอข้อมูลและงานบริการในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ในส่วนของข้อมูลประวัติส่วนตัวของทั้งบริษัทและผู้บริหารรวมถึงจุดเด่นของธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ภายในเว็บไซต์จะต้องมีระบุไว้ เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและตอบคำถามในใจของผู้บริโภคว่าทำไมเขาถึงต้องทำธุรกิจกับบริษัทของผู้ประกอบการ
2. รายละเอียดปลีกย่อย ธุรกิจส่วนใหญ่มีเว็บไซต์เป็นของตนเองแต่กลับใช้พื้นที่หน้าเว็บเป็นเพียงแค่ช่องทางในการสื่อสารเท่านั้น ทั้งที่จริงๆแล้วตัวเว็บไซต์เองก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ด้านอื่นๆให้กับบริษัทไม่แพ้วิธีอื่นๆเลย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องนำเสนอทั้งในส่วนรายละเอียดของสินค้าและงานบริการที่ธุรกิจของผู้ประกอบการมีมาเสนอไว้ที่หัวข้อหน้าเว็บแล้วสร้างลิงก์เชื่อมโยงเป็นการเฉพาะเข้าไปสู่รายละเอียดภายในอีกทีหนึ่ง จึงจะเป็นการตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีและตรงจุดที่สุดหากพวกเขาต้องการทราบรายละเอียดข้อมูลที่มากขึ้น
3. ข้อมูลการติดต่อ หลายๆบริษัทมีเว็บไซต์ที่น่าสนใจ แต่กลับมองข้ามที่จะใส่รายละเอียดในส่วนของข้อมูลการติดต่อกลับ ไม่ว่าจะเป็นชื่อบริษัทที่จดทะเบียน เบอร์โทรศัพท์ อีเมลแอดเดรส ที่ตั้งสำนักงาน รวมไปถึงแผนที่แสดงที่ตั้งของบริษัท ซึ่งถ้าหากเว็บไซต์ขาดข้อมูลเหล่านี้ก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะมีเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นตัวช่วยในการทำธุรกิจ นอกจากนี้การแจ้งรายละเอียดในส่วนต่างๆอย่างชัดเจนยังเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นกับธุรกิจของผู้ประกอบการอีกด้วย
4. แหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ผู้บริโภคเป็นจำนวนมากเลือกทำธุรกิจผ่านทางช่องทางออนไลน์โดยดูจากความเชื่อมั่นเป็นหลัก ซึ่งการอ้างอิงถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ร่วมทำธุรกิจกับผู้ประกอบการจะเป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มในส่วนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเทคนิคเล็กๆในส่วนนี้ผู้ประกอบการจะต้องไม่หลงลืมไปเป็นอันขาด เพราะมันจะมีส่วนสำคัญซึ่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและยอดขายในอนาคตของบริษัทด้วย
5. ระบบ Secure Socket Layer หรือ SSL เป็นระบบรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสที่มีมาตรฐานสูงมาก จึงเป็นตัวช่วยพิทักษ์ข้อมูลความเป็นส่วนตัวระหว่างผู้บริโภคกับทางเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้อมูลส่วนตัวผู้บริโภค ข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลการโอนเงิน ฯลฯ ซึ่งมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกิจในลักษณะของอีคอมเมิร์ซนี้ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ผู้บริโภคต่างเรียกร้องและต้องการจากเว็บไซต์ธุรกิจของผู้ประกอบการมากที่สุด
6. การใช้งานที่ง่าย ถึงแม้เว็บไซต์ทางธุรกิจจะสร้างขึ้นบนรากฐานของเทคโนโลยี แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ใช้เว็บไซต์ทำธุรกิจกลับอยากได้ความเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนจนเกินไปนักสำหรับการใช้งานเว็บไซต์ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องนำเอาจุดดังกล่าวไปใช้ในการออกแบบหน้าเว็บให้สามารถเข้าใจง่ายทั้งในส่วนของการเลือกแบบและขนาดของตัวอักษร โทนสี ภาพประกอบ และรายละเอียดต่างๆภายในเว็บไซต์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้บริโภคต่างคาดหวังและอยากจะได้จากเว็บไซต์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการ
7. ระบบช่วยเหลือต่างๆ ยังมีผู้บริโภคอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นคอไอทีอย่างแท้จริงทำให้การอัปเดตข่าวสารและวิธีการใช้งานเว็บไซต์ที่มีคุณสมบัติสูงๆมักจะเป็นปัญหาอยู่เสมอ การสร้างระบบช่วยเหลือและนำทางรวมไปถึงสอนวิธีการใช้งานจะเป็นตัวช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับเว็บไซต์ของผู้ประกอบการให้มีความเหนือกว่าเว็บไซต์อื่นๆของคู่แข่งได้เป็นอย่างดี เช่น การสมัครสมาชิก การสั่งซื้อสินค้า การโหลดข้อมูล เป็นต้น ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ผู้ประกอบการอาจจะไปแนะนำวิธีการใช้ในส่วนของหน้าบอร์ดสอบถามปัญหาวิธีการใช้ก็ได้
8. พื้นที่แสดงความคิดเห็น หลายเว็บไซต์ไม่ชอบที่จะให้มีในส่วนนี้เพราะคิดว่ามันไม่จำเป็นและอาจจะส่งผลเสียให้กับธุรกิจได้หากผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นที่เป็นด้านมืดหรือจุดบกพร่องของสินค้าและบริการของบริษัทออกมา ซึ่งหากผู้ประกอบการมีใจที่เปิดกว้างพอจะทราบว่าจุดนี้เป็นวิธีการตรวจวัดกระแสตอบรับที่ดีที่สุดและผู้ประกอบการยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจต่อได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการควรที่จะเปิดพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคแสดงความคิดเห็นกัน
9. มี Navigation ที่ชัดเจน ภายในเว็บไซต์ควรมีจุดที่ผู้บริโภคสามารถคลิกเพียงแค่ครั้งเดียวเพื่อตอบสนองกับสิ่งที่เว็บไซต์นำเสนอออกมาได้ไม่ว่าจะเป็น "สั่งซื้อเดี๋ยวนี้" "คลิกเพื่อรับข่าวสารเพิ่มเติม" "สมัครสมาชิกเดี๋ยวนี้" เป็นต้น ซึ่งเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะมีแต่ประเด็นปัญหาก็คือมันยังไม่โดดเด่นและสะดุดตาผู้บริโภคมากเพียงพอ ดังนั้นผู้ประกอบการห้ามหลงลืมในส่วนนี้ไปเป็นอันขาด
10. สิทธิพิเศษ ผู้ประกอบการหลายคนมักจะคิดว่าการทำธุรกิจขายสินค้าและบริการบนหน้าเว็บไซต์ไม่สามารถยื่นข้อเสนอขายแบบสิทธิพิเศษได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสามารถทำได้ และยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้บริโภคได้ดีมากอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องตอบสนองในส่วนตรงนี้ให้ได้ไม่ว่าจะเป็นด้วยวิธีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์เพื่อรับส่วนลด 5% หรือส่งอีเมลตอบกลับเพื่อรับส่วนลดคูปองสินค้า เป็นต้น
สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องกระทำหลังจากที่รับทราบความต้องการสูงสุดของผู้บริโภคแล้วนั่นก็คือการตอบสนองตามข้อเรียกร้องต่างๆให้ได้ เพราะจะไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่จะนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ตามความต้องการของตนเองตราบใดที่ผู้บริโภคคือผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย เพราะที่สุดแล้วการออกแบบเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จนั้นคณะกรรมการผู้ชี้ขาดบนเวทีก็ยังคงเป็น "ผู้บริโภค" อยู่วันยังค่ำในที่สุด
Credit : Incquity.com