Social Media
Social Media เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานมาก เช่น Facebook ซึ่งสามารถเปิดเพจสำหรับการขายของโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยสามารถเลือกหมวดหมู่ของเพจเป็นร้านค้า ระบุประเภทของสินค้า เพื่อให้ลงรายละเอียดได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมทั้งสามารถระบุข้อมูลการติดต่อ รวมถึงโลเคชั่นร้านค้าได้ด้วย
ส่วนโซเชียลมีเดียอีกอย่างที่นิยมคือ Instagram การขายของในแพลตฟอร์มนี้จะเน้นภาพเป็นสำคัญ และเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ด้วยการติดแฮชแท็กเกี่ยวกับชื่อและประเภทของสินค้า เพราะผู้ใช้จะค้นหาสินค้าจากแฮชแท็กนั่นเอง
ข้อดีของ Social Media
- ไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงขายสินค้า เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นขายของออนไลน์
- การใช้งานไม่ยุ่งยาก ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการสร้างเว็บไซต์ ทั้งนี้ควรศึกษารูปแบบการโพสที่เหมาะสมในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น ขนาดรูป การสร้างอัลบั้ม
- สามารถลงโฆษณาโดยเลือกจุดประสงค์ เช่น การสร้างการรับรู้แบรนด์ เพิ่มยอดขาย และเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างแม่นยำ เช่น เพศ อายุ ความสนใจ
- สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้ดี ทำให้ลูกค้าผูกพันกับแบรนด์มากขึ้น โดยสามารถสร้างคอนเทนต์ให้ลูกค้าติดตามได้ นอกเหนือจากการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว
- สามารถโพสต์โต้ตอบกับลูกค้า หรือตอบปัญหาได้ทันทีในแพลตฟอร์มเดียว
ข้อเสียของ Social Media
- อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เพราะไม่ใช่เว็บไซต์ของเราเอง เช่น Facebook อาจลดการเข้าถึงโพสต์ ทำให้เราต้องซื้อโฆษณาเพื่อให้มีผู้เห็นโพสต์ของเรามากขึ้น หรืออาจมีการปิดเพจของเราหากมีการทำผิดกฎ
- จัดการสินค้าที่โพสขายให้เป็นระบบเป็นหมวดหมู่ได้ลำบาก หากไม่ได้วางแผนการโพสให้ดี อีกทั้งลูกค้ายังเข้ามาค้นหาสินค้าได้ไม่สะดวก
- ควรมีแอดมินดูแลเพจหรือแอคเคาท์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การตอบโพสต์หรือแชทไม่ล่าช้า เนื่องจากผู้ที่ใช้โซเชียลมีเดียย่อมต้องการการตอบรับที่รวดเร็ว
E-Marketplace
E-Marketplace (Electronic Marketplace) หรือตลาดขายสินค้าออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มรวมร้านค้าและสินค้าหลากหลายประเภท มีการจัดหมวดหมู่และจัดอันดับร้านค้าที่น่าเชื่อถือเอาไว้ด้วย ทำให้มีผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ใช้งานจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น Shopee, Lazada มีการใช้งานที่ง่ายและมีการระบุรายละเอียดครบถ้วน ทั้งรายละเอียดสินค้า ราคาสินค้า การจัดส่ง และสามารถชำระเงินผ่านบัตรเครดิตได้เลย
ข้อดีของ e-Marketplace
- ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าเล็กหรือใหญ่ก็สามารถลงขายได้
- ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการลงขายสินค้า (จะคิดค่าธรรมเนียมเมื่อขายสินค้าได้)
- ไม่ต้องสร้างเว็บไซต์เอง มีระบบสต็อกสินค้าและระบบซื้อขายแบบอัตโนมัติซึ่งอำนวยความสะดวกกับเจ้าของร้านได้เป็นอย่างดี
- มีผู้ใช้งานจำนวนมาก และมีการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายอยู่ตลอด ทำให้เพิ่มโอกาสขายของได้มากขึ้น
- มีระบบการรับเงินหลากหลาย เช่น การโอน การตัดเงินผ่านบัตรเครดิต และมีการรับประกันว่าลูกค้าจะได้รับสินค้า
ข้อเสียของ Marketplace
- มีคู่แข่งทางการค้ามาก จึงต้องมีกลยุทธ์ในการทำให้ร้านค้าปรากฏขึ้นก่อนในประเภทของร้านค้าแบบเดียวกัน หรืออาจต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อพื้นที่ให้กับร้านของตนเอง
- ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าชนิดเดียวกันได้ง่าย หากเราตั้งราคาสูงกว่าร้านอื่น ก็อาจทำให้ขายสินค้าได้ยาก
เว็บร้านค้าออนไลน์ฟรี
เว็บร้านค้าออนไลน์ฟรีต่างกับ E-Marketplace ตรงที่ผู้ขายจะมีเว็บไซต์ขายของเป็นของตนเอง สามารถใช้บริการเปิดร้านค้าออนไลน์ได้ฟรี สามารถลงขายสินค้าในร้านได้อย่างเต็มที่ และตกแต่งหน้าเว็บได้อีกด้วย
ข้อดีของเว็บร้านค้าออนไลน์ฟรี
- ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเว็บไซต์ ไม่จำกัดจำนวนสินค้าที่ลงขาย แต่อาจมีค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับฟังก์ชันเสริม เช่น ค่า Domain Name หากต้องการมีชื่อ URL ที่กำหนดได้เอง
- เว็บไซต์มาพร้อมกับระบบ E-Commerce ซึ่งไม่ต้องสร้างเองให้ยุ่งยาก สามารถตอบโจทย์คนที่ต้องการขายสินค้าออนไลน์ได้
- มีเทมเพลตหน้าตาเว็บไซต์ให้เลือกใช้ และปรับแต่งหน้าร้านให้เป็นสไตล์ที่ต้องการได้ เช่น เปลี่ยนสี เปลี่ยนรูปภาพแบนเนอร์
ข้อเสียของเว็บร้านค้าออนไลน์ฟรี
- มีรูปแบบการจัดวางส่วนต่างๆ ภายในเว็บไซต์ที่กำหนดไว้แล้ว สามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่มาก
- เว็บไซต์โหลดช้า หรือมีโอกาสล่มได้ง่าย เพราะต้องแชร์พื้นที่เก็บข้อมูลกับเว็บไซต์อื่นๆ ทำให้เสียโอกาสในการขายสินค้าหากลูกค้าเข้าเว็บไซต์ไม่ได้
เว็บไซต์สำเร็จรูป
เว็บไซต์สำเร็จรูปเป็นบริการระบบสร้างเว็บไซต์ที่อำนวยความสะดวกกับผู้ที่อยากมีเว็บไซต์ของตัวเองแบบรวดเร็ว โดยมีเทมเพลตหน้าตาเว็บไซต์ให้เลือกหลายแบบ สามารถปรับรายละเอียดในส่วนต่างๆ ได้ยืดหยุ่นกว่าเว็บร้านค้าออนไลน์ฟรี ทั้งนี้เว็บไซต์สำเร็จรูปมักมีการเรียกเก็บค่าบริการเป็นรายปี
ข้อดีของเว็บไซต์สำเร็จรูป
- สามารถสร้างเว็บไซต์ซึ่งมีระบบ E-Commerce ได้เอง โดยไม่ต้องมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ด
- ประหยัดเวลาและเงิน เพราะถ้าจ้างหรือเขียนเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมาเอง ต้องใช้เงินลงทุนในการจ้างมากกว่า และใช้เวลาในการเขียนโค้ดนานกว่า
- สามารถปรับแต่งเว็บไซต์ให้สวยงามตามใจชอบ
- ร้านค้าดูมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าการใช้แพลตฟอร์มฟรี
- มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลแก้ไขหากเว็บไซต์มีปัญหา
ข้อเสียของเว็บไซต์สำเร็จรูป
- มีค่าใช้บริการเป็นรายปี โดยราคาขึ้นอยู่กับให้บริการ เฉลี่ยแล้วเริ่มต้นประมาณ 2,000-3,000 บาทต่อปี
- มีการจำกัดฟังก์ชัน และพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลเว็บไซต์หรือจำนวนสินค้า หากต้องการเพิ่มฟังก์ชันหรือมีข้อมูลจำนวนมากก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อปีเพิ่ม
- อาจมีรูปแบบหน้าเว็บไซต์ซ้ำกับอื่นๆ หากใช้ตามเทมเพลตโดยไม่มีการปรับแต่ง
เว็บไซต์ CMS
CMS (Content Management System) เป็นระบบในการบริหารจัดการเว็บไซต์สำเร็จรูป ทำให้ผู้ใช้งานไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดก็ใช้ได้ มีความยืดหยุ่นในการปรับแต่งเว็บไซต์อย่างมาก สามารถซื้อเทมเพลตหน้าตาเว็บไซต์สำเร็จรูปหรือที่เรียกว่าธีมที่ชอบมาใช้งานได้โดยไม่ต้องออกแบบเอง และยังมีโปรแกรมเสริมหรือที่เรียกว่าปลั๊กอินมากมายที่เหมาะสมกับการทำเป็นร้านค้าออนไลน์สำหรับการทำธุรกิจแบบ e-Commerce เช่น ระบบตะกร้าสินค้า ระบบบริหารจัดการสินค้า เป็นต้น ตัวอย่าง CMS ที่ได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่อยากเปิดร้านค้าออนไลน์ก็คือ WordPress
ข้อดีของเว็บไซต์ CMS
- มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งผู้ให้บริการอื่นๆ ไม่มีค่าบริการรายปี เบื้องต้นมีเพียงเสียค่าบริการ Hosting สำหรับเก็บข้อมูลเว็บไซต์และ Domain Name ที่เป็นชื่อของเราเอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 1,000 บาทต่อปี
- สามารถสร้างเว็บไซต์เองได้โดยการศึกษาข้อมูลเพิ่ม หรืออาจจ้างผู้ที่มีความรู้ติดตั้งเว็บไซต์ให้ก่อนได้ หลังจากนั้นเราสามารถปรับแก้ไขได้เอง
- มีธีมรูปแบบหน้าตาเว็บไซต์ให้เลือกมากมาย ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายในการซื้อธีมอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทสำหรับ WordPress) อีกทั้งยังสามารถปรับแต่งธีมได้ตามต้องการ
- มีปลั๊กอินเสริมที่ช่วยเพิ่มความสามารถของเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่าย
- เป็นมิตรกับ SEO ทำให้สามารถค้นเจอผ่าน Search Engine อย่าง Google ได้ง่าย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำร้านค้าออนไลน์อย่างจริงจังและต้องการทำการตลาดในระยะยาว
ข้อเสียของเว็บไซต์ CMS
- ในการเริ่มต้นใช้งาน ต้องใช้เวลาศึกษานานพอสมควร เช่น การใช้บริการโฮสติ้ง การติดตั้งเว็บไซต์ การใช้งาน CMS การจัดหน้าเว็บไซต์ตามที่ต้องการ
- อาจมีรูปแบบหน้าเว็บไซต์ซ้ำกับอื่นๆ หากซื้อธีมมาแล้วใช้งานโดยไม่มีการปรับแต่ง
- ต้องคอยอัปเดตระบบ CMS และธีม เพื่อปรับปรุงการทำงานและความปลอดภัยของเว็บไซต์
- หากเกิดปัญหาต่างๆ เช่น เว็บไซต์โดนแฮ็ค หากไม่ได้จ้างคนคอยดูแล ก็ต้องจัดการแก้ไขด้วยตัวเอง
การมีร้านค้าออนไลน์เป็นของตัวเองจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้า ส่วนการจะเลือกเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์แบบไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณและความสามารถในการดูแลร้านค้า ทั้งนี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเลือกใช้แค่ช่องทางเดียว ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถมีเว็บไซต์หลักเป็น WordPress แล้วใช้ Social Media และ E-Marketplace เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้นก็ย่อมได้
ที่มา: seo-web.aun-thai