Domain (โดเมน) คือ ชื่อเว็บไซต์หรือที่อยู่เว็บไซต์ หรือชื่อที่ใส่ลงในบราวเซอร์นั่นเอง เช่น google.com การตั้งชื่อ Domain จึงควรเป็นชื่อที่จดจำง่ายและบ่งบอกเนื้อหาของเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี โดยชื่อสั้นๆ จะช่วยให้คนจดจำได้ง่ายมากกว่า แต่การจดชื่อ Domain ก็ควรจะเลือกชื่อให้เหมาะกับธุรกิจหรือรูปแบบเว็บไซต์ด้วยเพื่อให้คนจำได้ง่ายยิ่งขึ้น
การจด Domain มีค่าใช้จ่ายรายปี แต่ละสกุลโดเมนจึงมีราคาแตกต่างกันไป เช่น .com จะมีราคาประมาณ 300 – 400 บาทต่อปี และมีค่าต่ออายุทุกปี มีหลายคนที่พลาดลืมต่ออายุ ทำให้เว็บไซต์เข้าไม่ได้ นอกจากนี้การจดโดเมนต้องใช้ชื่อของเราในการจด เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถจัดการโดเมนของตัวเองได้เมื่อเกิดปัญหา เช่น โดเมนหมดอายุ ถ้าใช้คนอื่นจดให้แล้วไม่สามารถตามตัวผู้จดทะเบียนได้ ก็จะต่ออายุไม่ได้
2. เลือกใช้ Hosting ที่เหมาะสม
Hosting (โฮสติ้ง) มีหลายประเภทเพื่อรองรับการใช้งานที่หลากหลาย บางเว็บไซต์มีผู้เข้าใช้งานไม่มาก บางเว็บไซต์มีผู้ใช้งานมาก ก็ต้องเลือก Hosting ที่เหมาะสมกับเว็บไซต์ เพราะถ้าเลือก Hosting ที่ไม่เหมาะสมกับเว็บไซต์ เช่น เว็บไซต์ขายของออนไลน์มีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่เลือก Hosting ที่ไม่รองรับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ ก็จะทำให้เว็บไซต์ไม่เสถียร ล่มได้ง่าย หรือโหลดช้า ทำให้คนเข้ามาแล้วก็คลิกออกไปทันที รวมถึงการเลือกผู้ให้บริการ Hosting ต้องเลือกผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ ติดต่อได้ง่าย สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว เพราะการที่เว็บไซต์ใช้งานไม่ได้จะทำให้เราสูญเสียโอกาสในการขายสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย
3. วาง Sitemap ให้เป็นระบบ
Sitemap (ไซต์แมพ) คือ แผนที่หรือเเผนผังโครงสร้างเว็บไซต์ สำหรับแง่การออกแบบเว็บไซต์นั้น การทำ Sitemap จะช่วยในการมองภาพรวมของเว็บไซต์ว่าเบื้องต้นจะมีหน้าอะไรบ้าง กี่หน้า มีลำดับชั้นอย่างไร ซึ่งหากเราไม่วาง Sitemap ไว้ก่อน หรือวางไม่ระบบระเบียบ ก็อาจทำให้เกิดความสับสนและความลำบากในการแบ่งหน้าเว็บไซต์รวมถึงการจัดทำเนื้อหาอีกด้วย
นอกจากนี้เรายังสามารถทำเป็นไฟล์ HTML Sitemap ที่รวบรวมลิงก์ต่างๆ ในเว็บไซต์เพื่อบอกผู้ที่เข้ามาใช้งานว่าเว็บไซต์นี้มีหน้าอะไรบ้าง และสามารถเข้าหน้าต่างๆ ผ่านลิงก์ใดได้บ้าง เป็นเหมือนสารบัญของเว็บไซต์นั่นเอง รวมถึงการทำเป็น XML Sitemap สำหรับ Bot ของ Search Engine ที่จะเข้ามาเก็บข้อมูลหน้าต่างๆ ในเว็บไซต์ได้สะดวกขึ้น
4. ออกแบบเว็บไซต์โดยคำนึงถึงผู้ใช้งาน
การออกแบบเว็บไซต์โดยคำนึงถึงผู้ใช้งาน หรือ User Experience (UX) คือประสบการณ์ผู้ใช้งาน เป็นการออกแบบให้ผู้ใช้งานรู้สึกพึงพอใจจะทำให้ผู้ใช้งานอยากอยู่ในเว็บไซต์นานขึ้น เช่น ความสะดวกในการใช้งาน การลำดับขั้นตอนในเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้ว่าจากลิงก์หนึ่งไปสู่อีกลิงก์หนึ่ง ถ้าเว็บไซต์ไหนมี UX ไม่ดีก็จะทำให้ผู้ใช้งานไม่อยากกลับมาที่เว็บไซต์อีก นอกจากนั้นแล้วก็ยังมี User Interface (UI) คือส่วนที่ทำให้หน้าตาเว็บไซต์สวยงาม ดูน่าใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางองค์ประกอบ การเลือกใช้สี ฟ้อนต์ รูปภาพหรือกราฟฟิกต่างๆ
คนทั่วไปเวลาออกแบบเว็บไซต์มักจะคำนึงแต่เรื่อง UI แต่ในความเป็นจริงนั้น ถึงแม้ว่า UI จะหรูหราอลังการ แต่ UX ไม่ดี ใช้งานยาก ดูแล้วงง อีกทั้งพอมีรูปภาพเยอะ เว็บไซต์ก็โหลดช้าเข้าไปอีก ทำให้คนปิดหนีไม่อยากใช้งานได้ ในทางกลับกันถึงแม้ว่าเว็บไซต์จะมี UX ดี แต่ UI ไม่สวยก็ทำให้คนไม่อยากใช้งานเช่นกัน ดังนั้นการออกแบบเว็บไซต์ที่ดีจึงต้องคำนึงถึงผู้ใช้ทั้งในด้านการใช้งานและความสวยงาม
5. เลือกใช้รูปภาพที่ถ่ายเอง หรือรูปภาพที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง
ข้อนี้หลายคนอาจมองข้ามหรือประมาทไป แต่เรื่องลิขสิทธิ์เป็นเรื่องที่สำคัญมากและคนทำเว็บไซต์ทุกคนควรตระหนัก ไม่อย่างนั้นเว็บไซต์อาจจะโดนแบนหรือโดนฟ้องร้องเรียกค่าลิขสิทธิ์ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชื่อเสียง เงิน และเวลา ดังนั้นห้ามเลือกรูปที่ค้นหาจาก Google หรือ Pinterest.com หรือไปเซฟมาจากเว็บไซต์อื่นๆ มาใช้งานเพียงเพราะเห็นว่าหาได้ง่าย สวยดี แต่ให้เลือกรูปจากเว็บไซต์ขายภาพ เช่น Shutterstock.com และซื้อภาพให้ถูกต้อง แต่ถ้างบประมาณมีไม่มากก็มีแหล่งแจกรูปฟรีถูกลิขสิทธิ์อยู่เหมือนกัน เช่น Pixabay.com
6. ต้องมีการวัดผลการใช้งานเว็บไซต์
การพัฒนาเว็บไซต์จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อวัดผลการใช้งานได้ โดยสามารถติดเครื่องมือวัดผลที่ใช้งานได้ฟรีจาก Google เช่น Google Analytics ซึ่งจะทำให้ได้รู้ว่ามีคนเข้าชมเว็บไซต์เป็นจำนวนเท่าไหร่ เข้าชมหน้าไหน และอยู่บนเว็บไซต์นานหรือไม่ รวมถึงสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่าคนเข้าชมเว็บไซต์มาจากช่องทางไหน
นอกจากนี้ก็ยังมีอีกเครื่องมือที่แนะนำคือ Google Search Console ที่สามารถวัดประสิทธิภาพของการค้นหาผ่านทาง Organic Search ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญในการทำ SEO เพื่อเพิ่มผู้เข้าชมเว็บไซต์ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ SEO (Search Engine Optimization) คือ?) อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยดูแลและตรวจสอบปัญหาต่างๆ ในเว็บไซต์ ได้ เช่น ข้อผิดพลาดของเซิร์ฟเวอร์ ปัญหาการโหลดเว็บไซต์ และปัญหาด้านความปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะทำให้สามารถวางแผนพัฒนาเว็บไซต์ได้อย่างถูกจุดและปรับปรุงให้เว็บไซต์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
7. ระวังโดน Hack
ปัญหาเว็บไซต์ถูก Hack (แฮ็ก) สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะกับมือใหม่หัดทำเว็บไซต์ โดยแฮ็กเกอร์ที่แฮ็กเว็บไซต์ของเราอาจเป็นแค่แฮ็กเกอร์ที่แฮ็กเพื่อความสนุก ไว้อวดฝีมือ หรือคู่แข่งทางการค้าของเรา ทำให้ไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ หรือเข้ามาแอบแปะข้อมูลหรือลิงก์ขายของ หรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในเว็บไซต์ของเราก็ได้ ซึ่งวิธีรับมือเผื่อเกิดถูกแฮ็กคือการสำรองข้อมูลของเว็บไซต์เอาไว้ในเครื่อง PC อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และลงทะเบียนเว็บไซต์ไว้กับ Google Search Console ซึ่งจะช่วยรายงานและตรวจจับความปลอดภัยให้กับเว็บไซต์เราได้ รวมถึงอัปเดตสแกนไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนวิธีแก้ไขเบื้องต้นเมื่อโดนแฮ็ก คือตรวจดูว่ามีอะไรบ้างที่โดนแฮ็กโดยสามารถกดดูที่ Security Issue ได้ และไล่ลบไฟล์ Script แปลก ๆ ผ่าน Control Panel หรือ Direct Admin จากนั้นเปลี่ยนรหัสผ่านของ Admin แล้วจึงแจ้งทาง Hosting ให้รีเซ็ตรหัสผ่านด้วย ซึ่งถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองควรติดต่อผู้เชี่ยวชาญให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งช้า เว็บไซต์ก็จะยิ่งเสียหาย และข้อมูลสำคัญในเว็บไซต์ก็อาจรั่วไหลได้
นักทำเว็บไซต์มือใหม่ที่อยากสร้างเว็บไซต์ด้วยตัวเองคงจะต้องระมัดระวังกันมากขึ้น ด้วยรายละเอียดเล็กๆ ในการสร้างเว็บที่บางคนอาจมองข้ามอย่างการใช้รูปภาพที่ผิดลิขสิทธิ์จนนำไปสู่การฟ้องร้องและทำให้เว็บไซต์เสียชื่อเสียงได้ แต่นอกจากการทำเว็บไซต์ด้วยตัวเองแล้ว ก็ยังมีวิธีอื่นอย่างการจ้างทำเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์หรือบริษัทรับทำเว็บไซต์ ที่จะช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น แต่ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั่นเอง
ที่มา: seo-web.aun-thai.co.th