ยุคที่มีเทคโนโลยีเฟื่องฟู สิ่งอำนวยทางออนไลน์หลากหลาย ทำให้ในปัจจุบันมีร้านค้าต่างๆ และมีการซื้อ-ขาย บนโลกออนไลน์เพิ่มเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อดีอยู่มากมาย แต่อย่างไรก็ตามการซื้อ-ขาย บนโลกออนไลน์ที่ง่าย ก็ยังคงมีช่องโหว่ ให้ผู้ไม่หวังดี หรือมิจฉาชีพมักจะแฝงตัวเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากผู้ที่ซื้อ-ขายทางออนไลน์
1. เก็บหลักฐาน ข้อมูล ให้มากที่สุด : หากรู้ตัวแล้วว่าโดนมิจฉาชีพหลอกให้ทำการรีบเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด เช่น ภาพหน้าร้านเพจ, โปรไฟล์ของพ่อค้าแม่ค้าหรือผู้ขายสินค้า, โพสต์, ที่ประกาศขายสินค้า, แชท, ข้อความการพูดคุย, บัญชีธนาคาร, ธนาคารที่โอนเงินไป, สลิป และ การโอนเงินชำระค่าสินค้า
2. นำหลักฐาน ไปแจ้งความทันที และแจ้งธนาคาร : หลักฐานทั้งหมดสามารถรวบรวม และนำไปที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการแจ้งความไปด้วย พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้เสียหาย เพื่อออกใบแจ้งความ และคดีความจะมีอายุไขทั้งหมด 3 เดือน และประสานงานกับธนาคารต้นทาง และปลายทางเพื่อระงับหรืออายัติ แจ้งเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทางธนาคารได้ช่วยเราติดตามมิจฉาชีพได้ไวขึ้น
3. ประสานงาน ติดต่อแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ : หากในธุรกรรมของเรามีการ ซื้อ-ขาย ผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นหลักแหล่ง เชื่อถือได้ ให้เรานำหลักฐานการแจ้งความ เพื่อแจ้งประสานงานขอข้อมูลมิจฉาชีพ ที่ใช้ทำการสมัคร เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ในการตามตัวได้ เช่น IP Address (หมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบเครือข่ายสามารถบอกได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ที่ไหน), การยืนยันตัวตน และอื่นๆ จากผู้บริการเว็บไซต์นั้นๆ
4. นำหลักฐานที่ได้เพิ่มเติม ไปดำเนินการต่อ : หากได้หลักฐานเพิ่มเติม เช่น ใบหน้า และข้อมูลของการยืนยันตัวตน ก็สามารถไปแจ้งยังสถานีตำรวจเพื่อดำเนินการต่อได้ทันที หรือเลข IP Address ก็สามารถนำไปยื่น ISP (หน่วยงานที่ให้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต) ของ IP Address นั้นๆ พร้อมกับใบแจ้งความ เพื่อรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มือถือ เบอร์โทรศัพท์บ้าน และ ชื่อ-นามสกุล
5. ส่งข้อมูลที่ได้เพิ่มมาให้กับตำรวจ เพื่อตามตัว : ถ้าได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ให้นำหลักฐานส่งต่อกับทางตำรวจเพื่อประสานงานออกหมายเรียก ตามตัว หรือหมายศาลไปยังมิจฉาชีพ เพื่อดำเนินคดีความในลำดับต่อไป
ซึ่งหากตามตัวมิจฉาชีพได้แล้ว ทางผู้ต้องหาจะโดนดำเนินคดีความทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต ในกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 วรรค 1 มีเนื้อหาดังนี้ “การนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนเอาผิดตามกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ได้” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : กองบังคับการปราบปราม , thairath.co.th