ว่ากันว่าคนเราไม่ค่อยชอบอ่านตัวหนังสือเท่าไรนัก เราจะเห็นว่าเว็บไซต์ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รูปภาพในการสื่อสารกับผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของรูป สีสัน และขนาด ล้วนมีส่วนทำให้ผู้ใช้งานสะดุดตา และหันมาให้ความสนใจกับเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ นอกจากนั้น การเลือกใช้รูปภาพที่เหมาะสมยังจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
แต่ในบางครั้ง รูปภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ เรายังคงต้องใช้ข้อความเข้ามาช่วยสื่อสารในเรื่องที่มีความซับซ้อน หรือในเรื่องที่รูปภาพยังอธิบายได้ไม่ชัดเจน ข้อดีของตัวหนังสือก็คือมันจะมีความตรงไปตรงมามากกว่า ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องตีความอะไรมากมายเหมือนกับการดูรูปภาพ แต่เนื่องจากคนเราไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาวๆ แล้วเราจะทำอย่างไร?
สาเหตุที่คนเราไม่ชอบอ่านข้อความยาวๆ นั้นเป็นเพราะว่า “เวลานั้นมีค่า” หากคนเราสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาที่ยาวหลายบรรทัดได้โดยใช้เวลาเพียงแค่พริบตาเดียว เราคงจะเห็น text อยู่เต็มเว็บไซต์ไปหมด แต่ด้วยข้อจำกัดของสมองของคนเรา เรื่องที่ว่านี้จึงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง หากเนื้อหาของเรามีความซับซ้อน หรือยาวเอามากๆ จนผู้อ่านต้องใช้เวลานานในการทำความเข้าใจ พวกเค้าก็อาจจะเลิกสนใจแล้วหันไปหาเนื้อหาอื่นที่ “ดูคุ้มค่ากว่า” แทน
เวลาจะนำเสนออะไร หลายๆ คนจะพยายามหาเหตุผลต่างๆ นาๆ มาอธิบายเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตาม วิธีนี้จะเริ่มด้วยการเล่าถึงที่มาของปัญหาก่อน เพื่อจะได้เชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่เค้าจะนำเสนอในตอนท้าย ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาดังกล่าวได้ วิธีนี้ดูเหมือนจะดีหากเราใช้ในห้องประชุมที่ผู้ฟังทุกคนไม่สามารถลุกหนีไปไหนได้ หากเบื่อการนำเสนอของคุณ
แต่ในการสื่อสารบนเว็บไซต์นั้นตรงกันข้าม ผู้เข้าชมพร้อมจะปิดหน้าเว็บของเราในทันทีที่เค้า “คิด” ว่าเนื้อหานั้นไม่น่าสนใจ หรือไม่ตรงกับสิ่งที่เค้าต้องการหาอยู่ ถึงแม้ว่าจริงๆ แล้ว มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นก็ตาม ดังนั้น การสื่อสารแบบตรงประเด็นจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ให้เราเลือกใช้ข้อความสั้นๆ ที่สามารถอธิบายถึงภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมดได้เร็วที่สุด เพื่อให้เค้ารู้ก่อนว่าสิ่งที่เราต้องการจะสื่อนั้นเกี่ยวกับอะไร วิธีนี้จะช่วยให้ผู้อ่านยังคงอ่านเนื้อหาที่เหลือต่อจนจบ หรือจนกว่าเค้าจะพบว่าเนื้อหานี้ไม่มีค่าแล้วสำหรับเค้า
หากเราทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเวลาของเค้าไม่สูญเปล่า เค้าไม่ได้เอาเวลามาเสียให้กับอะไรก็ไม่รู้ แม้ว่าเนื้อหาของเราจะยาวหลายบรรทัด หรือจะยาวเป็นร้อยหน้า เค้าก็จะยอมอ่าน คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ผู้อ่านมองว่าเนื้อหาของเรามีค่า ?
หากเนื้อหาของเราเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับผู้อ่าน หรือเป็นข้อมูลที่ผู้อ่านกำลังให้ความสนใจ หรือกำลังค้นหา ติดตามอยู่ เนื้อหาเหล่านี้ ผู้อ่านจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ และจะยอมอ่านต่อ ตราบใดที่ความสงสัยของเค้ายังคงมีอยู่ เช่น ข่าวการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่, สอนการทำ Parallax Scrolling เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหานั้นจะเป็นสิ่งที่ผู้อ่านรู้อยู่แล้ว แต่มันก็สามารถทำให้ผู้อ่านพึงพอใจได้เช่นกัน หากเนื้อหานั้นเป็นเหมือนการยืนยัน หรือพิสูจน์ว่าความคิดของผู้อ่านนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เช่น บทความเกี่ยวกับการเลือกใช้ ID และ Class ในการเขียน CSS Selectors เป็นต้น
เหนือสิ่งอื่นใด ไม่ว่าเนื้อหาเราจะเขียนดีแค่ไหน แต่มันก็ไร้ค่าอยู่ดีหากผู้อ่านอ่านไม่รู้เรื่อง การใช้ถ้อยคำง่ายๆ หรือการเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับตัวผู้อ่านจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจเนื้อหาของเราได้ง่ายขึ้น สมมติว่าผู้อ่านของเว็บเราส่วนใหญ่เป็น Geek เราก็อาจจะใช้ศัพท์เทคนิคสูงๆ ได้ โดยไม่ต้องอธิบายให้ละเอียดมากนักว่าคำนี้แปลว่าอะไร ตรงกันข้าม หากผู้อ่านของเว็บเราส่วนใหญ่เป็นมือใหม่ เราก็อาจจะละศัพท์ทางเทคนิค แล้วหันมาใช้คำอะไรที่มันเข้าใจได้ง่ายกว่า เป็นต้น
สุดท้ายแล้ว เนื้อหาต่างๆ จะลดค่าลงไปอย่างมากเลยทีเดียว หากมันเป็นเนื้อหาที่ไกลตัวผู้อ่าน หรือเป็นเนื้อหาที่ผู้อ่านไม่ได้รับประโยชน์หลังจากที่ได้อ่านเท่าไรนัก เช่น การพูดถึงเนื้อหาเกี่ยวกับ CSS5 ทั้งๆ ที่ CSS3 ยังไม่นิ่งเลย
หลายๆ คน ทำเว็บเพราะใจรัก รักที่จะเขียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ จริงอยู่ที่มันเป็นเรื่องที่ดีที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ แต่หากเราหวังที่จะสร้าง traffic จำนวนมากแล้วล่ะก็ วิธีนี้อาจไปได้ไม่ไกล ให้เราทบทวนดูว่าเนื้อหาของเรา “ดูมีค่า” ในสายตาของผู้อ่านแล้วหรือยัง ปัญหาของเค้าคืออะไร ให้เราแก้ปัญหาของเค้าให้ได้ เมื่อเราสามารถมองในมุมมองเดียวกับผู้อ่านได้แล้วล่ะก็ การทำให้ผู้อ่านพอใจก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย และเมื่อนั้นการสร้าง traffic จำนวนมาก ก็คงจะไม่ไกลเกินเอื้อม
Credit : Siamhtml.com