แนวโน้มการดำเนินชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคในเวลานี้นั้นครอบคลุมในทุกส่วนของการใช้ชีวิต ทั้งด้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนของการเจริญเติบโตด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น การเริ่มต้นธุรกิจที่แปะป้าย “สีเขียว” หรือธุรกิจประเภทรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนนั้นจึงกลายเป็นเรื่องที่เข้ามาอยู่ในกระแสอย่างรวดเร็ว ทว่าเมื่อเราพูดถึงการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เข้าสู่ทางเดินสายนี้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการคาบเกี่ยวหรือทับซ้อนกับธุรกิจประเภทอื่นอยู่เสมอ และการใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตสินค้าสีเขียวอันเป็นหัวใจหลักของธุรกิจนั้นก็ต้องทำอย่างเคร่งครัดกว่าปรกติเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในคุณภาพสินค้าให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าหากเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเฉพาะอีกด้วย หลากหลายประเภทธุรกิจเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจึงต้องวิ่งให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ล่วงหน้าไปก่อนเสมอ จึงดูเหมือนว่าการเริ่มต้นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ก็ไม่ได้ใจเย็นและเป็นกันเองกับผู้ผลิตเลยสักนิดเดียว
แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจสีเขียวก็ยังคงเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจของหลากหลายบริษัท ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องการสูญเสียธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยังคงได้ยินอยู่บ่อยๆ การทำธุรกิจสีเขียวจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจนั้นปรากฏถึงจุดยืนด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นท่ามกลางคู่แข่งได้เป็นอย่างดี และการนำเสนอการโฆษณาสินค้าสีเขียวนั้นก็ยังคงทรงพลังต่อผู้บริโภคอยู่เสมอ และอีกด้านหนึ่งธุรกิจสีเขียวนั้นหมายถึงการใช้และบริหารทุกทรัพยากรให้ถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า เคียงคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจ และภาพพจน์อันดีต่อสังคมชุมชนที่ได้รับการจัดการที่ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย
ลองมองดู 4 มุมมองที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงธุรกิจปัจจุบันเข้ากับธุรกิจสีเขียวในอเมริกา ณ วันนี้ไปด้วยกัน แล้วเราอาจลองนึกดูว่าสำหรับเรานั้นมีช่องทางใกล้ตัวให้เราทำได้อย่างนั้นหรือไม่ อย่างไร
Organic ห่วงมากขึ้น
แนวโน้มว่าการเลือกรับประทานอาหารออร์แกนิคนั้นเพิ่มมากขึ้น เพราะผู้บริโภคใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการกิน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการดำเนินชีวิต จากอัตราการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิคในอเมริกานั้นเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 1990 ที่มีเพียงหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯ สู่ปี 2011 ที่พุ่งสูงขึ้นถึง 29.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และเติบโตแบบไม่มีทีท่าว่าจะลดลง คาดการณ์ได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้กว่า 9.5% จากปีที่แล้ว ปัจจัยมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความนิยมในอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงความต้องการจากโรงเรียนและในสถาบันต่างๆ อีกด้วย ผู้ประกอบการสามารถค้นพบโอกาสของธุรกิจอาหารออร์แกนิคได้จากทั้งการเกษตร การผลิตอาหาร หรืออุตสาหกรรมร้านอาหาร
เมื่อเราลองเดินสำรวจชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิคนั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จะสามารถหาผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเจอเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์อาหารทั่วไป เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ได้อย่างดีถึงอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มเกษตรกรรมและธุรกิจผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นในการเลือกใช้วัตถุดิบออร์แกนิคเพื่อผลิตอาหารในอเมริกานั้นเพิ่มขึ้นโดยประมาณ 2% ภายในทศวรรษที่ผ่านมา และปริมาณการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20% ต่อปี ตัวเลขนี้เป็นเหมือนสัญญาณเปิดทางให้กับผู้ประกอบการที่สนใจลงเล่นในสนามของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนี้ เพราะนั่นหมายถึงธุรกิจที่มีต้นทุนในการผลิตที่ไม่สูง สร้างความยั่งยืนได้ มีสัดส่วนในการตลาดสูง และส่งเสริมรายได้ให้เพิ่มขึ้น
แต่แน่นอนว่าหากจะผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจการผลิตอาหารออร์แกนิคนั้น ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องเตรียมตัวเองเข้าสู่การควบคุมระบบอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเข้มงวด ผู้ผลิตจะต้องมีใบรับรองและรักษามาตรฐานการผลิต รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องฉลากอย่างถูกต้อง ซึ่งหากคุณเป็นผู้ผลิตหน้าใหม่หรือต้องการขยับขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ผู้ผลิตที่ค้าปลีกอาหารออร์แกนิคนั้นก็ทำได้ไม่ยาก แต่จำเป็นจะต้องมีใส่ใจกับมาตรฐานการผลิตอย่าง OTA (Organic Trade Association) โดยเคร่งครัด เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การแปะฉลากเขียวลงบนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคชนิดไหนหรือประเภทใดก็ได้ตามแต่ใจ เพราะการให้สรรพคุณที่เป็นไปในทางที่ผิดนั้นอาจทำให้เจ้าของธุรกิจต้องเสียค่าปรับจาก USDA National Oraganic Program ได้
Reduce ใช้น้อยลง
ปัจจุบันมีไอเดียหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะช่วยให้คนเลือกใช้การขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้น หรือลดการใช้น้ำมันให้น้อยลงได้? ในตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาของธุรกิจอย่าง “วอล์ค สกอร์ (Walk Score)” เว็บไซต์ที่ให้คะแนนพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงกันโดยเดินเท้าไปถึงได้ ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติมข้อมูล ทั้งจุดแบ่งปันรถยนต์ (Car share: จุดเช่ารถยนต์ในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นรายชั่วโมง หรือรายวัน ผู้ประกอบการแบ่งปันรถยนต์นี้อาจเป็นได้ทั้งบริษัทจัดตั้ง หรือเจ้าของรถยนต์เอง ตัวอย่างจุดแบ่งรถยนต์ที่เป็นที่รู้จัก อาทิ ZipCar, Mint, iGo, CityCar เป็นต้น) ร้านกาแฟ ร้านขายของชำ โรงเรียน เพื่อวางแผนที่ให้ผู้บริโภคหันมาเลือกการเดินแทนที่การใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันให้น้อยลง เลือกเดินเท้าในระยะใกล้ได้มากขึ้น ในหลายเมืองเริ่มหันมาจับตามองการขนส่งทางเลือกนี้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่ใช้เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ และเพิ่มอีกหนทางในการพยายามเยียวยาสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
และสำหรับก้าวต่อไปสู่ความสำเร็จของระบบการขนส่งประหยัดพลังงาน คือการรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือภาคส่วนของการคมนาคมได้อย่างถูกต้อง ระบบการขนส่งประหยัดพลังงานดังตัวอย่างข้างต้นนี้ ถูกประกาศเป็นวาระหนึ่งในงาน “World Economic Forum” ในมิติการเชื่อมโยงการขนส่งนี้เข้ากับมิติอื่นๆ ได้แก่ เรื่องนโยบาย, การเงิน, พลังงาน, โครงสร้างพื้นฐาน และผู้บริโภค กรอบความคิดได้รับการพัฒนาจากกระบวนการของการร่วมมือกันระหว่างผู้ถือผลประโยชน์ร่วม, ผู้ให้บริการการขนส่ง, ผู้จัดซื้ออุปกรณ์ ผู้วางนโยบายและแผนการผลิต, ผู้จัดหาพลังงาน และสถาบันทางการเงิน ซึ่งวิธีการนี้สามารถเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลสามารถนำมาสร้างความยั่งยืนด้วยการลดการปล่อยพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการขนส่งนี้ยังมีทิศทางการพัฒนาในอนาคตอีกยาวไกล และสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้จริงในระยะยาว
การลดการใช้พลังงานจึงเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ทุกธุรกิจนั้นคิดอยู่เสมอ และอย่าลืมว่าเมื่อคุณค้นพบวิธีที่ดีในการลดการใช้พลังงานหรือต้นทุนได้อย่างจริงจัง จะสามารถผลักดันให้กลายเป็นจุดขายและจุดแข็งกับธุรกิจของเราได้อย่างแข็งแรงและโดดเด่นด้วย
Rethink เปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้น
โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนในยุคนี้อนุญาตให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการต่างๆ ผ่าน “แอพพลิเคชั่น” ที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้หลากหลายช่องทางอย่างรวดเร็วและรอบด้าน ซึ่งสามารถรวมถึงช่องทางหนึ่งอย่างด้านการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เนื่องจากกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อ “แอพพลิเคชั่นสีเขียว” หรือแอพพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้นมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ตระหนักได้ว่าบริการต่างๆ ที่ได้รับจากแอพฯ สีเขียวนั้นนำมาประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว และเติมเต็มความต้องการที่อยากจะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะเริ่มตระหนักถึงความสิ้นเปลืองและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานอย่างไม่รู้คุณค่า
ตัวอย่างการสร้างสรรค์ “แอพพลิเคชั่นสีเขียว” จากการประกวดแอพฯ เพื่อการประหยัดพลังงาน รางวัลชนะเลิศเป็นของงานที่ชื่อ “Leafully” สร้างสรรค์โดยทีโมธี เอ็ดการ์ และนาธาน จาเวอร์ แอพฯ ลีฟฟูลลี่นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานมองเห็นภาพข้อมูลการใช้พลังงาน ตัวอย่างเช่น รวบรวมต้นไม้ที่ต้องการพลังงานชดเชยจากการใช้พลังงานของแต่ละคน ลีฟฟูลลี่จะสนับสนุนให้ผู้ใช้ตั้งค่าและกำหนดเป้าหมายในการประหยัดพลังงานของตนเองไว้ได้ และสามารถแบ่งปันผลงานการประหยัดของตัวเองบนโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ้คได้ทันที หรืออย่างรางวัลชนะเลิศระดับนักเรียนนักศึกษา เป็นของ University of California กับแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ “wotz” แอพฯ ที่ให้ผู้ใช้สำรวจและเล่นเกี่ยวกับข้อมูลการใช้พลังงาน โดยนำเสนอในรูปแบบเกมที่มีพื้นฐานเป็น “รูปร่าง” ของชุดข้อมูลผู้ใช้ และเปรียบเทียบการใช้พลังงานของผู้ใช้แสดงเป็นภาพประกอบ
จากในอดีตที่ผู้ประกอบการอาจมองไม่เห็นถึงประโยชน์ของแอพฯ เหล่านี้ ลองดูตัวอย่างจาก facebook ที่ครั้งหนึ่งก็เคยมีหน้ามีตาอยู่แต่ในเว็บไซต์เท่านั้น แต่เนื่องด้วยความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป facebook จึงได้ขยับขยายพื้นที่ของตัวเองไปปรากฏในรูปแบบแอพพลิเคชั่นอยู่ในอุปกรณ์สื่อสารรูปแบบต่างๆ ทั้งโทรศัพท์มือถือ และแท็บเลต ผู้ใช้จึงมี facebook ติดตัวไปด้วยทุกที่ทุกเวลา นำพามาซึ่งความสำเร็จสูงสุดเป็นประวัติการณ์
จากตัวอย่างนี้ ถ้าผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญของแอพฯ และนำมาเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว ธุรกิจสีเขียวที่ปรับตัวตามการใช้งานของผู้บริโภคอย่างเท่าทัน มองเห็นโอกาสเพื่อขยายช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค ความสำเร็จของการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ๆ เหล่านี้ ทำให้คาดการณ์เส้นทางการเติบโตของธุรกิจแอพพลิเคชั่นสีเขียวนี้น่าจะงอกเงยได้อย่างสวยงามแน่นอน
Reuse หมุนเวียนหากยังใช้ได้
การเกิดขึ้นของ “ธุรกิจแบ่งปัน” กำลังบอกผู้บริโภคให้เลิกซื้อของประเภทไอเทมใหม่ๆ รถยนต์ หรืออุปกรณ์เล่นกีฬา แต่แทนที่ความต้องการนั้นด้วยการมองหาร้านเช่าหรือร้านให้ยืมมากกว่า ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าธุรกิจแบ่งปันนี้กำลังเป็นที่นิยมและทำกำไรได้อย่างงดงามด้วยเหมือนกัน เริ่มต้นจากปฏิบัติการทางเว็บไซต์และแอพฯ ในโทรศัพท์มือถือ เป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้การดำเนินธุรกิจนี้ให้เป็นไปอย่างง่ายดาย และแปลงผู้บริโภคให้เป็นทั้งผู้ยืมและผู้ให้ยืมได้ในคลิกเดียว
หลากหลายธุรกิจที่กำลังกังวลกับต้นทุนในการซื้อสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายจำนวนมหาศาล ลองเปลี่ยนมุมมองเป็นเรื่องการแบ่งปันดูบ้างไหม? ลองศึกษาตัวอย่างจากบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น GetAround ธุรกิจให้ยืมรถมาพร้อมประกันภัย มีตัวเลือกตั้งแต่รถโฟลค์คลาสสิก ไปจนถึงรถสปอร์ตสีแดงหรู หรือ Airbnb ธุรกิจแลกเปลี่ยนที่พักแต่ละเมืองที่ไม่ซ้ำกับในไกด์บุ้ค ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ทเมนต์สำหรับหนึ่งคืน หรือบ้านพักตากอากาศสำหรับหนึ่งเดือน ด้วยจำนวนกว่า 19,000 เมือง ใน 192 ประเทศ Airbnb จะสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์สำหรับผู้ไปเยือนกับเจ้าบ้านได้ด้วยความยินดี
ธุรกิจที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนนั้นสนับสนุน “การแบ่งปัน” ให้เป็นกระแสนิยม เพราะเป็นวิธีที่สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้อย่างดี อาศัยเพียงเครื่องมือสำคัญอย่างความร่วมมือจากหลายฝ่าย แน่นอนว่า กระบวนการธุรกิจแบ่งปันนี้เพิ่มการยืม-ลดการซื้อได้อย่างเห็นภาพ ลองสำรวจธุรกิจตัวเองขั้นพื้นฐานอย่างเช่น มีความเข้าใจเรื่อง “น้อยคือมาก” และโอกาสที่จะเกิดขึ้นตามมา อย่างเช่น ความกดดันของลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนที่มีมีความต้องการจะได้ของใช้ระดับราคาแพงแต่เงินในกระเป๋าไม่ถึง นี่คือช่องทางหนึ่งที่จะนำเสนอทางเลือกเรื่องธุรกิจแบ่งปันนี้ได้ หรือการตัดสินใจอย่างแน่วแน่ถ้าจะเสนอตัวเพื่อแบ่งปันสิ่งของ สิ่งของที่จะเกิดการเพิ่มการยืม-ลดการซื้อนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งของที่ผู้ใช้ใช้แบบนานๆ ครั้ง นี่คือโอกาสทองของทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าของธุรกิจหรือผู้ให้ยืม และฝ่ายลูกค้าที่ยืม เพราะธุรกิจจะได้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการให้ยืมหรือเช่านี้ ส่วนลูกค้าผู้ยืมเองก็ไม่ต้องเสียเงินในราคาเต็มต่อการใช้งานเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องของการเปิดใจ เข้าใจและยอมรับว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของการทำธุรกิจ ธุรกิจแบ่งปันนี้สามารถช่วยเหลือการใช้ของฟุ่มเฟือย ลดการซื้อหาของใช้ที่ไม่จำเป็น ลูกค้าจะค้นเจอการได้ประโยชน์จากธุรกิจการแบ่งปันนี้มากกว่าการซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ ทั้งหมดนี้คือโอกาสชั้นดีสำหรับผู้ประกอบการที่มองว่าธุรกิจการแบ่งปันมีโอกาสที่จะเป็นจริงขึ้นได้ในอนาคต
4 โอกาสพัฒนาธุรกิจสีเขียวนี้อาจมอบสิ่งตอบแทนกลับมาไม่ใช่แค่เพียงกำไรในแง่เม็ดเงินเท่านั้น แต่ผลตอบแทนที่มีคุณค่ามากกว่าคือ แนวทางที่ยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำได้จริง เมื่อมองไปในอนาคต ธุรกิจเหล่านี้อาจสามารถช่วยต่อลมหายใจอันน้อยนิดของจำนวนพลังงานที่มีอยู่ให้นานมากขึ้นอีกหน่อยก็เป็นได้
Credit : INCquity