ดังที่ทราบกันทั่วไปว่าห่วงโซ่อุปทานของการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งๆ ประกอบด้วยองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กจำนวนมาก ตั้งแต่ ต้นน้ำ (upstream) จนถึงปลายน้ำ (downstream) องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ จึงสามารถเป็นได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในห่วงโซ่อุปทาน การจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน หรือห่วงโซ่สีเขียว (greening supply chain management) จึงเป็นกลยุทธ์ด้านการบริหารเชิงธุรกิจที่สามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงการบริหารจัดการและสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรอย่างยั่งยืน องค์กรธุรกิจหลายที่มีมาตรฐาน แนวนโยบาย หรือระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนจะช่วยให้สามารถตีกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการปรับปรุงประสิทธิภาพของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต การจัดซื้อ การขนส่ง และการส่งมอบผลิตภัณฑ์ไว้ด้วยกัน โดยสร้างความร่วมมือภายในองค์กรผู้ซื้อ (buyers) และบริษัทคู่ค้า (suppliers) เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และส่งเสริมให้มีการนำหลักการผลิตที่สะอาดและการป้องกันมลพิษมาใช้ในองค์กร โดยองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่มีอำนาจในการซื้อได้ดำเนินการวางนโยบายเพื่อซื้อสินค้าฉลากเขียวจากคู่ค้าของตน ที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ของผู้ซื้อ และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย
ประโยชน์ของการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าทางธุรกิจนั้นมีอยู่มากมาย ยกตัวอย่างบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์
(General Motors) ได้ให้ความเห็นว่า "จากการทำงานร่วมกับบริษัทซัพพลายเออร์ ทำให้บริษัท (GM) สามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการที่บริษัททำเพียงลำพัง ซึ่งนอกจากนี้ยังทำให้ซัพพลายเออร์สามารถลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพิ่มยอดขาย ทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีแก่บริษัท และทำให้กลุ่มซึ่งมีการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม (socially responsible investment groups) ให้คะแนนแก่บริษัทเพิ่มขึ้น”
ในการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านคู่ค้าทางธุรกิจกับบริษัทซัพพลายเออร์ อาจทำได้ทั้งแบบชั้นเดียวคือการดำเนินงาน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมกับคู่ค้าทางธุรกิจที่ติดต่อกันโดยตรง หรืออาจทำงานร่วมกับคู่ค้าทางธุรกิจหรือซัพพลายเออร์สายลึกลงไป เช่น ซัพพลายเออร์ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานชั้นที่ 2 หรือชั้นที่ 3 ซึ่งอาจเป็นวิธีการซับซ้อนและทำได้ยาก และบางองค์กรธุรกิจก็ให้ความสนใจในการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมกับคู่ค้าทางธุรกิจ ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ที่ได้รับด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ของตนแก่ลูกค้า หรือที่เรียกว่า ห่วงโซ่อุปทานแบบย้อนกลับ (reverse supply chain) ที่สามารถส่งคืนซากสินค้าให้กับผู้ผลิต เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ นำไปบำบัดหรือกำจัดต่อไปอีกด้วย
Credit : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ