ขณะนี้ กระแส AEC กำลังมาแรงมาก ใครๆ ก็พูดถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับประเทศชาติ ระดับองค์กร และระดับบุคคล แม้แต่รัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐก็ได้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัว มีการประชุมเพื่อวางแผนบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่างจริงจัง ซึ่งนับว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะมิฉะนั้น ประเทศของเราคงไม่สามารถปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และคงจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเข้าร่วม AEC ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนั้น ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญของประเทศไทยประการหนึ่ง ก็คือ การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ยังมีปริมาณไม่มากนัก อันอาจเป็นเพราะการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของไทยยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรหรือไม่ได้มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์และประเทศเกาหลีใต้แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า สิงคโปร์และเกาหลีใต้มีการกำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและมีการวางแผนเพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน จนในปัจจุบัน ทั้งสิงคโปร์และเกาหลีใต้ได้รับความสำเร็จจากการปรับเปลี่ยน (Transform) นี้เป็นอย่างยิ่ง และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยบริษัทที่ปรึกษาทางการจัดการ BCG ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับสุดยอดประเทศนวัตกรรมชั้นนำของโลกได้จัดอันดับให้ประเทศสิงคโปร์ได้อันดับหนึ่ง และประเทศเกาหลีใต้ได้อันดับสอง ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่สร้างนวัตกรรมสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในขณะที่เกาหลีใต้ก็เป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สำคัญของโลกเช่นกัน และในปัจจุบัน หลายๆ ประเทศต่างก็หันมาให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมบ้าง เนื่องจากเห็นแล้วว่า สามารถแก้วิกฤติการณ์และสร้างความยั่งยืนได้
จากที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่า การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมจะส่งผลดีต่อประเทศชาติและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มแก่องค์กรและประเทศชาติในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กรและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเข้าร่วม AEC ในปี 2558 รวมทั้งเวทีการค้าโลก ประเทศไทยจะต้องเร่งสร้างผู้นำด้านนวัตกรรมในทุกระดับเพื่อจะได้พร้อมรับมือกับระบบการค้าเสรีที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง จะได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั้งในอาเซียนด้วยกัน และในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
ดังนั้น ปัญหาสำคัญเร่งด่วนของไทย คือ ทำอย่างไรให้ทุกคนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล?
คำตอบก็คือ เราต้องเสริมสร้างให้มีผู้นำด้านนวัตกรรมในทุกมิติของสังคม เพราะจะเป็นวิถีทางในการสร้างกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมทั้งระบบ จะได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อประเทศชาติ ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง โดยขั้นตอนแรกควรจะเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรือความเชื่อที่ผลต่อพฤติกรรม (Mindset) ของบุคคลก่อน เพื่อให้มีการคิดอย่างสร้างสรรค์ในเชิงบวก (Positive Creative Thinking) จะได้สร้างบรรยากาศให้เกิดการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) มากกว่าที่จะคิดเพื่อบริหารจัดการนวัตกรรม (Management of Innovation) และหากเราสามารถคิดเชิงนวัตกรรมได้ จะส่งผลต่อโครงสร้างและวัฒนธรรมของสังคมไทยให้นำไปสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในที่สุด
ฉะนั้น ในการปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่การเป็นประเทศนวัตกรรม เราต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking Skills) ที่สำคัญ อาทิ
1. ปลูกฝังค่านิยมให้มีความรักหลงใหล (Passion) ในนวัตกรรม ชนิดสู้ไม่ถอยหรือไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาอุปสรรค โดยมีทัศนคติชอบความท้าทาย ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัวให้เป็นไปในทางที่ดี มีประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อปลูกจิตสำนึกของการเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถตอบสนองเป้าหมายและวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการของสังคมได้ ทำให้เป็นการสร้างนวัตกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อทุกภาคส่วนของสังคม
2. สนใจ ใส่ใจ เอาใจใส่ ศึกษาข้อมูลอย่างลึกซึ้ง รอบคอบ สังเกตการณ์ด้วยความสนใจ เรียนรู้ทั้งจากองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ หรือพัฒนาต่อยอดที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3. มีจินตนาการ คือ ใช้จินตนาการสร้างสรรค์นวัตกรรม หาคำตอบที่เป็นไปได้ และเป็นที่ยอมรับได้ โดยสามารถเชื่อมโยงเป้าหมายของนวัตกรรมกับความต้องการของผู้บริโภค ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้
4. นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังแต่ไม่กดดัน เป็นการแปลงความคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดทุกข์ จะได้สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรม
5. สร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเป็นทีม คือ บูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่ดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบทุกด้าน เพราะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ผู้มีส่วนร่วมเห็นคุณค่าของนวัตกรรมที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นั้น และยังทำให้รู้สึกดีว่า ตนมีคุณค่าที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ มีความรักศรัทธาในผลงาน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และศักยภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยตรง
6. ใช้คุณลักษณะส่วนบุคคลให้เป็นประโยชน์ เช่น เป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ช่างสงสัย ชอบวิเคราะห์ค้นคว้า ทดลอง สังเคราะห์เพื่อหาคำตอบหรือทางเลือกที่ดีที่สุด รู้จักเชื่อมโยงความคิด กล้าลงมือปฏิบัติ ไม่กลัวความล้มเหลว รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าใจความต้องการของผู้อื่น ฯลฯ
สุดท้าย ประเด็นสำคัญที่จะต้องตระหนัก คือ ทุกคนมีความสามารถในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมได้ แต่ต้องไม่หลงลืมภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพราะความคิดดีๆ มักอยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง
Credit : รองศาสตราจารย์ทองทิพภา วิริยะพันธุ์