การทำธุรกิจก็ต้องยอมรับความจริงว่า กว่าจะไปถึงเป้าหมายก็จะต้องใช้พลังกายและพลังใจพอสมควร หลายคนเคยฝ่าฟันและช่วยทำให้องค์กรเล็ก ๆ ได้ติดตลาดมาแล้ว แต่สำหรับการเริ่มต้น ธุรกิจ SMEs ต้องดูว่าควรลงทุนอย่างไรเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด และควรจะหาวิธีรับมืออย่างไร หากพายุมาแบบคาดไม่ถึงแต่เรือก็ยังสามารถแล่นต่อถึงฝั่งฝันได้
1.เริ่มต้นธุรกิจให้พอดี
การเริ่มต้นธุรกิจให้มีแต่ความพอดี คือไม่สร้างองค์กรที่ใหญ่เทอะทะเกินความจำเป็นในช่วงเริ่มต้น แต่ไม่ใช่จะไม่ลงทุน สิ่งไหนที่จำเป็นให้ลองพิจารณาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก่อน ถ้าไม่สามารถก็ให้ลองเลือกใช้ Outsource ดู วิธีนี้นอกจากจะไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของพนักงานประจำที่ต้องดูแล คุณยังได้ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ มาแบบไม่ต้องเสียเวลาปั้นนาน
2.บริการหลังการขายจะต้องน่าประทับใจ
นอกจากสินค้าดี บริการหลังการขายก็ต้องดีเช่นกัน ลูกค้าจะได้ติดใจและบอกต่อ เพราะเมื่อธุรกิจของคุณไปได้ดีแล้ว ความเสี่ยงหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ การเข้ามาของนัก Copy - Paste ที่พร้อมออกสินค้าและบริการในรูปแบบเดียวกับคุณ! การมีฐานลูกค้าที่จงรักภักดีจะช่วยลดความเสี่ยงในการโดนขโมยลูกค้าได้
3.หาเพื่อนคู่คิดเพื่อธุรกิจที่แปลกใหม่
ความจริงใจและการช่วยเหลืออย่างเป็นมิตรต่อกัน ทั้งคนในองค์กรเดียวกัน และคู่ค้าหรือพันธมิตรจะช่วยให้เกิดความแข็งแรงในทางธุรกิจแบบคาดไม่ถึง การร่วมมือกันจัดโปรโมชั่นของสองธุรกิจที่สอดคล้องกันจะช่วยให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ที่คนประทับใจ และกลายเป็นจุดขายใหม่ ๆ ที่คู่แข่งเลียนแบบได้ยาก ขอให้เชื่อในผลรวมที่มากกว่าสองของหนึ่งบวกหนึ่ง ในเรื่องคอนเน็คชั่นที่ดีจากมิตร
4.ควรตรวจสอบสถานะของธุรกิจตนเองอย่างสม่ำเสมอ
วิธีนี้เป็นการเกาะติดสถานการณ์การดำเนินธุรกิจให้แน่ใจว่า กำลังมาถูกทาง รักษาจังหวะการเดินให้เหมาะสม และพร้อมจะหันซ้าย-ขวาบ้าง ถ้าเจออุปสรรคที่ไม่ควรเจอ มองเป้าหมายให้ชัด ๆ มีสมาธิที่จะเดินไปหา แต่ก็หลบหิน หลบตอบ้าง ไม่ชนโดยไม่จำเป็น ถ้ามีอะไรที่เราต้องปรับเปลี่ยนบ้าง ก็ลองทำดูเพื่อความก้าวหน้า ซึ่งไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร อย่างน้อยคุณก็จะได้รับประสบการณ์ชีวิต
5.ก้าวให้ทันเทคโนโลยี
เรียกได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สำคัญคือ เรื่องของความรู้ความเข้าใจในยุคสมัยของโลกในยุคดิจิทัล เพื่อให้รู้ว่าเทคโนโลยีไปถึงที่ไหนกันแล้ว อย่างเช่น การลงทุนผ่านโลกออนไลน์อาจจะทำให้คุณได้ยอดขายก้อนโต ซึ่งอาจไม่ต้องสูญเงิน หรือเสียกำลังคนไปทำการตลาดในแบบที่ไม่ได้รับความสนใจ
6.ความคุ้มค่าการลงทุนทำธุรกิจ
นอกจากดูทำเลของสถานที่ ต้องดูว่าทำเลที่นี่น่าสนใจแค่ไหน มีความสะดวกในการที่ลูกค้าจะเข้าถึงหรือไม่ ต้องดูด้วยว่าแหล่งที่คุณจัดตั้งนั้นเป็นแบบเช่าหรือซื้อ หากซื้อเพื่อการลงทุนจะต้องดูรายละเอียดสำคัญอื่นๆ ประกอบ เปรียบเทียบ ความถูกแพง กับแหล่งอื่นๆ และเมื่อได้ทำเลที่ตั้งแล้ว การตกแต่งสามารถหลบหลีกด้วยการใช้วัสดุถูก ๆ ตกแต่งไม่ต้องหรูหรามาก แต่ให้ดูดี ที่ไม่ต้องเลือกแพงมากสำหรับการเริ่มต้นลงทุน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : moneyhub, krungsri