การหาเงินในวงการทำเว็บไซต์นี่มีหลายทาง ไม่ว่าจะรับเป็นงานฟรีแลนซ์ หรือทำ Startup หรือเป็นพนักงานบริษัท แต่แน่นอนว่าส่วนใหญ่ล้วนอยากเป็นเจ้านายตัวเองกันทั้งนั้น จึงไม่แปลกว่าจะมีคนหันไปทำ Startup หรือไปหาเงินทุนด้วย Crowd Funding และการทำธีมขายใน Themeforest ก็เป็นหนทางหนึ่งในการเป็นเจ้านายตัวเองเช่นกัน
คนไทยคนหนึ่งที่ดังมาก ๆ ใน Themeforest คือ @Peerapong ซึ่งล่าสุดทำยอดขาย 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (60 ล้านบาท) ไปเรียบร้อย ทำให้คนไทยหลาย ๆ คนเข้ามาขายธีมในตลาดนี้ มาดูกันว่า 5 อย่างที่คุณต้องรู้ก่อนเข้าไปลุยป่า Themeforest มีอะไรกันบ้าง
ไม่ใช่ว่าใครส่งธีมเข้าไปขายใน Themeforest แล้วจะผ่านทั้งหมด คุณภาพของธีมที่จะเอาขึ้นหน้าเว็บไซต์นั้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการแข่งขันในตลาด ซึ่งถ้าคุณภาพงานของเรายังไม่สูงพอมีโอกาสโดนตีกลับได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม การตีกลับใน Themeforest มีสองแบบ คือ
Soft Reject – ถ้าคุณภาพงานของเราเกือบผ่านแล้ว แต่ยังติดปัญหานิดหน่อย เค้าก็จะตีกลับมาในลักษณะนี้ งานที่ส่งไปจะไปยังอยู่ในระบบ เราแค่แก้ไขตามเค้าให้ถูกต้องก็ผ่านแล้ว
Hard Reject– ถ้าคุณภาพงานของเราไม่ถึงมาตรฐาน หรืองานแนวเรามีเต็มตลาดเกินไปแล้ว เค้าจะตีกลับมาแบบนี้ งานจะหลุดออกจากระบบไปเลยครับ อาจต้องแก้เยอะแล้วส่งไปอีกครั้ง แก้ไม่ได้แล้ว ส่งซ้ำไปมีโอกาสโดนแบน
อย่าลืมว่าคุณภาพของธีมที่จะส่งผ่านนั้นจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีการเพิ่มเติมกฏข้อบังคับตลอดเวลา เพราะฉะนั้นรีบทำรีบส่งตั้งแต่ตอนนี้ครับ ไม่งั้นคุณภาพที่เค้าต้องการจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก
ธีมที่เราวางขายใน Themeforest จะไม่มีค่าวางของ แต่เค้าจะหักเงินเราไปตอนที่ของเราขายได้ ซึ่งจะเริ่มต้นที่ 50% แปลว่าถ้าเราขายของราคา $50 (1500 บาท) เค้าจะหักเราไป $25 คือเราได้ไป $25 (750 บาท)
บางคนอาจคิดว่าทำไมหักไปเยอะจัง เทียบกับของ Apple Store ที่หักค่าแอพ 30% (เจ้าของแอพได้ 70%) ก็ถือว่าเยอะแล้ว อันนี้เราต้องมองว่าฐานลูกค้าของ Themeforest เยอะมาก สมมติถ้าเราเอาของไปวางบนเว็บเราแล้วขายได้ 5 ชิ้น แต่ถ้าลง Themeforest แล้วขายได้ 200 ชิ้น ยังไงแบบหลังก็คุ้มกว่า ยกเว้นว่าเรามีวิธีการโปรโมทขายของที่ดีมาก ๆ จนไม่ต้องพึ่งตลาดนี้
ถ้าเราขายของได้ยอดสูงขึ้น ก็จะได้ % เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยสูงสุดอยู่ที่ 70% เท่ากับขายแอพใน Apple Store เลย
คนที่ซื้อ Theme ในเว็บไซต์นี้มีความคาดหวังว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรเค้าจะติดต่อเราได้ตลอด เพราะเค้าจ่ายเงินซื้อของเราไปแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าคนทำธีมแทบทุกคนมีระบบให้ลูกค้าเค้ามาถามคำถามได้ และบางที่ก็เข้าไปติดตั้งธีมให้ลูกค้าฟรี ๆ ด้วย
การจะเข้ามาในตลาดทำธีมต้องมั่นใจก่อนว่าเราสามารถรองรับคำถามจากลูกค้าได้ ซึ่งถ้าใครเคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณ Peerapong ที่ขายได้ 60 ล้าน เค้าบอกว่าวันนึงต้องตอบอีเมลเป็น 100 ฉบับครับ (ตอนนี้น่าจะมากกว่านั้นแล้ว)
ถ้า Support ไม่ดีลูกค้าก็จะไม่กลับมาซื้อของเราอีกเลย ในทางกลับกัน ถ้าเค้าเคยซื้อไปแล้วพบว่าธีมเรา Support ดีมาก ๆ เค้าก็จะไว้วางใจเรา แล้วมาอุดหนุนเราบ่อย ๆ เพิ่มยอดขายเพิ่มเรทติ้งให้เราได้อีก
หลายคนกลัวว่าภาษาอังกฤษตัวเองไม่แข็งแล้วเข้าไปจะลำบาก เดี๋ยวนี้มีเครื่องมือช่วยเหลือเยอะ อาจจะใช้วิิธีโยนใส่ Google Translate, เปิด Dictionary, หรือหาคนมาช่วยแปลก็ได้
คนซื้อใน Themeforest เค้าจะไม่ถามเราโดยใช้ประโยคยาก ๆ เพราะบางทีเค้าก็ไม่ได้มาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก โดยถ้าเราไม่เข้าใจคำถามจริง ๆ สามารถขอให้เค้าอธิบายเพิ่มเติม หรือให้เค้าอัพรูป Screenshot มาให้ดูว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกันแน่ ส่วนใหญ่ดูรูปเราก็จะเข้าใจเลย
พอคนไทยเห็นว่าตลาดนี้ทำเงินได้ดีก็จะอยากเข้าไปขายของใน Themeforest ซึ่งจากที่ขายของตัวเอง บอกได้เลยว่าขายดีจริง แต่มันไม่ใช่ตลาดที่จะสอนให้ไปขายได้ง่าย ๆ เหมือนพวกตลาด Affliate (เอาของคนอื่นมาวางขายในเว็บเราแล้วเราได้ %)
อย่างหนึ่งเลยคือคุณภาพของงานที่จะวางขายได้ไม่ใช่ว่าสอนพื้นฐานแล้วจะทำส่งขายได้เลย งานต้องดีไซน์สวย ระบบต้องดี ซึ่งพวกนี้มาจากประสบการณ์การทำงาน สอนแค่แนวคิดไปทำไม่ได้แน่นอน ตลาดนี้คุณภาพงาน (Design & Development) มาก่อน ส่วน Marketing จะเอามาใช้ได้ก็ต่อเมื่อส่งงานผ่านแล้วเท่านั้น
ถ้าใครบอกว่าจะสอนคุณขายของใน Themeforest ให้ขอ User ใน Themeforest ของเค้าเพื่อเข้าไปดูผลงานเค้าก่อนเลย ดูว่าเค้าขายของมากี่ชิ้นแล้ว แต่ละชิ้นขายดีไม่ดียังไงบ้าง ของพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะปิดบังกันแล้วได้ประโยชน์อะไร เพราะเราเอาไปก็ก็อปมาขายไม่ได้