สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “การชำระเงินด้วย QR Code” ซึ่งหลายธนาคารก็พร้อมใจกันขานรับนโยบาย QR Payment เปิดให้ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น จากการเก็บข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ตอนนี้คนต่างจังหวัดสนใจ และอยากใช้ระบบ QR Payment แต่ยังติดในเรื่องความไม่สะดวก รวมถึงร้านค้าหลายร้านยังไม่รองรับการชำระเงินแบบนี้ แตกต่างจากในกรุงเทพฯ ที่ร้านค้าหลายแห่ง ที่เริ่มเปิดให้จ่ายเงินผ่าน QR Code ได้แล้ว เพื่อลดการใช้เงินสด กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ที่สำคัญยังช่วยลดเวลาและต้นทุนต่างๆ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องกดเงินสดจากตู้ ATM เพื่อซื้อสินค้า ร้านค้าก็ต้องนำเงินไปฝากธนาคารอีกต่อ และธนาคารจะนำเงินมาที่ตู้ ATM อีกครั้ง เพื่อรอการเบิกถอนต่อไป ซึ่งธนาคารต้องนำเงินสดมาใส่ตู้ ATM เดือนละ 6-10 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยขั้นเหล่านี้ต้องเสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย
วันนี้ (30 สิงหาคม 2560) ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศความร่วมมือการใช้มาตรฐาน QR Code เพื่อการชำระเงินอย่างเป็นทางการ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันของระบบการเงินไทย ภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ
• QR Payment จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการชำระเงินของร้านค้า ทั้งที่ร้าน Physical และ Online ในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกในการให้บริการของร้านค้า ลดการใช้เงินสด และไม่ต้องติดตั้งเครื่องรูดบัตร
• มีมาตรฐาน QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
• QR Payment เจาะกลุ่มตลาดกลาง และตลาดล่าง เพื่อเพิ่มความเข้าถึงบริการทางการเงิน และก่อให้เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย
ทั้งนี้ QR Code ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้า โดยได้รับความนิยมในหลายประเทศ อาทิ จีน และอินเดีย สำหรับในประเทศไทย ได้มีการพัฒนาให้เชื่อมต่อกับบัตรเครดิตและเดบิต รวมทั้งบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ e-Wallet ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภคอย่างมาก ทว่า QR Code หรือ QR Payment ยังเป็นระบบใหม่ ทางธนาคารจึงต้องให้ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพนักงาน Call Center หรือสาขา เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องไปยังผู้บริโภค
โจทย์สำคัญในเวลานี้คือ ทำอย่างไรไม่ให้ผู้บริโภคสับสน แล้วต้องมี QR Code เดียว รองรับการใช้งานได้ทุกธนาคาร รวมถึงการใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชี e-Wallet และรองรับการชำระเงินจากต่างประเทศ
1. แบบ Static : QR Code จะไม่เปลี่ยนแปลง ร้านค้าสามารถพิมพ์และติดไว้ที่ร้านได้ตลอด จนกว่าข้อมูลการชำระเงินจะเปลี่ยนไป โดยลูกค้าเป็นผู้ใส่จำนวนเงินที่ต้องการจะชำระเอง
2. แบบ Dynamic : QR Code จะเปลี่ยนในทุกรายการ เช่น ในร้านมีสินค้าที่หลากหลาย และราคาแตกต่างกันไป กรณีนี้ ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใส่จำนวนเงิน แต่ร้านค้าสามารถสร้าง QR Code จากแอปฯ ได้หลายอัน โดยกำหนดราคาของสินค้าแต่ละรายการ
ในส่วนของความปลอดภัย ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ย้ำว่า การชำระเงินด้วย QR Code มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมีการตรวจสอบเป็นประจำ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังไม่ต้องพกเงินสด หรือมอบบัตร/ข้อมูลของบัตรให้ร้านค้าโดยตรง และในการใช้ Mobile Apps ผู้ใช้ต้องล็อคอิน เพื่อใส่ Username และ Password ก่อนเพื่อใช้งาน จึงเชื่อมั่นได้ว่าปลอดภัยแน่นอน