รู้แล้วหรือยังว่า แม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายภาษี ล้านละ 5000 บาท

รู้แล้วหรือยังว่า แม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายภาษี ล้านละ 5000 บาท

กลายเป็นประเด็นทันที เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ 

พูดง่ายๆ ก็คือ การแก้ไขกฎหมายกรมสรรพากร โดยกำหนดให้ สถาบันการเงิน ต้องส่งข้อมูลของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชี ในการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกินปีละ 3,000 ครั้ง หรือการฝาก-รับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง ที่มียอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ให้กรมสรรพากรตรวจสอบ เพื่อเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง

กฎหมายฉบับนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักมาก ว่า...ไม่เป็นธรรมกับบรรดาพ่อแม่พี่น้องที่มีอาชีพค้าขาย โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่กำลังเป็นธุรกิจที่ฮิตติดลมบน จนคาดกันว่าจะมีมูลค่าการค้าขายไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาทในปีนี้ และจะทะลุ 5 ล้านล้านบาทในปี 64

จนกรมสรรพากรเองต้องรีบชี้แจงแถลงไขว่า...การแก้ไขกฎหมาย ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีเท่านั้น และยังเป็นการรองรับการทำธุรกรรมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การให้ผู้จ่ายเงินสามารถเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายผ่านตัวกลาง อย่างสถาบันการเงิน เท่านั้น

ทั้งนี้ทั้งนั้น...ผู้จ่ายเงินได้ก็ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรในภายหลังอีก ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบการเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่ากรมสรรพากรจะจ้องรีดภาษีกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ไม่เพียงเท่านี้ กรมสรรพากรยังย้ำว่า ก่อนแก้ไขกฎหมาย ก็มีการเปิดประชาพิจารณ์ มีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีการพินิจพิเคราะห์ พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบ

แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด!!! การจัดเก็บภาษีก็เพื่อให้รัฐมีรายได้ที่จะนำไปใช้ในการจัดบริการสาธารณะให้กับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นการรายงานธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคลไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นอกจากนี้หากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่านี้ มีประวัติทางการเงินที่โปร่งใสถูกต้อง ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือได้รับสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ก็เท่ากับว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มขีดความสามารถมากขึ้นไปอีก

และใช่ว่าเงินที่รับ-โอนผ่านบัญชีหรือผ่านสถาบันการเงิน จะต้องเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์ เพราะยังมีเงินได้อีกมากมายไม่ได้เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินกู้ยืม การรับเงินที่ฝากไปทำบุญแทน อะไรเทือกนี้ต่างหาก

นอกจากนี้ข้อมูลที่กรมสรรพากรได้รับ ก็ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะหลับหูหลับตาแล้วเรียกเก็บภาษีทันทีซะเมื่อไหร่ โดยข้อมูลที่สถาบันการเงินรายงานให้ทราบ ก็ต้องนำไปวิเคราะห์ประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ของผู้เสียภาษีอีก ก่อนนำไปจัดกลุ่ม จัดประเภทการดูแลให้ถูกต้องต่อไป

ข้อมูลของกรมสรรพากรที่ชี้แจงกันออกมา ฟังๆ ดูแล้วก็ดูสวยหรู เพราะสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี แถมยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษีอีกต่างหาก ก็ยุคนี้สมัยนี้อะไรๆ ก็ไปเร็วมาเร็ว ตามยุคไทยแลนด์ 4.0 นั้นแหล่ะ

คาดกันว่ากฎหมายฉบับนี้ น่าจะประกาศใช้เพื่อเริ่มเก็บข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 นี้เป็นต้นไป และให้สถาบันการเงินส่งรายงานธุรกรรมครั้งแรกภายในเดือนมี.ค.63

แต่ก็เอาเถอะ...ต่อให้กรมสรรพากรชี้แจงอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายก็หนีไม่พ้นที่ต้องเสียภาษีตามหน้าที่อยู่ดี อย่าลืมว่าตามปกติผู้มีรายได้ก็ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2-8) ที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่ว่า ผู้ที่มีอาชีพอิสระต้องเสียภาษีแบบเหมาจ่ายในอัตรา 0.5% ของรายได้ หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีรายได้ถึงเกณฑ์เข้าบัญชี 2 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษี 10,000 บาท หรือล้านละ 5,000 บาท

แต่ ณ เวลานี้ ตามฐานข้อมูลของกรมสรรพากรเองพบว่า คนไทยเวลานี้มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 4-5 แสนบาท หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 26,000 บาท ซึ่งก็ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ไม่ต้องเข้าเกณฑ์เสียภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาจึงเป็นเพียงการเพิ่มความเข้มข้นในการดูแล ในการตรวจสอบเท่านั้น ใครที่ทำถูกต้องก็ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ใครที่หลบเลี่ยงไม่เสียภาษีให้ถูกต้องก็อาจมีหนาว

เอาเป็นว่ากฎหมายใหม่ที่ออกมา ก็เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีเท่านั้น ไม่ได้เรียกเก็บภาษีเพิ่มอะไร ก็ใจเย็นกันไว้เถอะหากเสียภาษีถูกต้องก็ไม่ต้องกังวล.

ขอบคุณแหล่งที่มา : กรมสรรพากร

โดย :
 5358
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ความพยายามที่จะทำให้ข้อความที่เขียนมาในรูปแบบตัวหนังสือนั้น สามารถจดจำได้ง่าย ๆ ซึ่งหากจะประยุกต์ในแง่ ของธุรกิจ ก็คือ ทำอย่างไรให้การสื่อสารระหว่างกิจการและลูกค้าเป้าหมายของเรามีประสิทธิผลมากที่สุด
การลงโฆษณาบนโลกออนไลน์ที่เราเห็นและใช้งานกันอยู่บ่อย ๆ ก็คงไม่พ้นการใช้ Google Adwords แสดงผลการค้นหาผ่านหน้า Search Engine ของ Google เอง หรือจะเป็นการลงแบนเนอร์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยการติดต่อกับทางเว็บไซต์นั้นๆ

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์