ความเข้าใจถึงผู้ใช้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญและนำพาให้ธุรกิจของเรานั้นประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เมื่อไรที่เราสามารถเข้าถึงใจผู้ใช้ได้และตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ในทันที อาการ "ติดหนึบบริการ" ของเราก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น และถ้าเราเข้าถึงใจ (หรือถูกใจ) ลูกค้าหลายๆ คนที่มีปัญหาเหมือนๆ กันได้ โอกาสที่ Web Services ที่เราออกแบบไว้จะอยู่อย่างยั่งยืนก็จะยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น
ทั้ง 5 ข้อนี้คือลักษณะของผลงานดิจิทัลพร้อมทั้งตัวอย่างเว็บที่สามารถเข้าใจธรรมชาติของผู้คนในยุคปัจจุบันและสนองความต้องการของพวกเขาได้
1. เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงาน ทุกวันนี้คนเรามีความคิดสร้างสรรค์มากมายที่อยากจะถ่ายทอดออกมา ผลงานศิลปะต่างๆ ไม่ได้จำกัดอีกต่อไปว่าต้องมาจากศิลปินเท่านั้น แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่ได้ด้วยตัวเองผ่านโลกอินเตอร์เน็ต ต่างจากสมัยก่อนที่งานศิลปะนั้นหาดูได้จาก Art Gallery เท่านั้น การมีเว็บรวบรวมผลงานก็เหมือนเป็นศูนย์กลางการปล่อยไอเดียที่มีเพื่อให้คนอื่นได้ชื่นชม ได้โหวต ได้แสดงความคิดเห็นถึงผลงานทีเราได้สร้างสรรค์ขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการหางานในสายนี้ จากแมวมองที่คอยหานักสร้างสรรค์ผลงานหน้าใหม่จากเว็บประเภทนี้อีกด้วย
2. หาเงินทุนอย่างสร้างสรรค์ เป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับเจ้าของไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจ แต่กลับไม่มีเงินทุนมาช่วยสนับสนุน ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีเว็บไซต์ก็ได้ดำเนินมาสู่ยุคของ Crowdsourcing ที่อาศัยผู้เริ่มต้นเป็นคนตั้งต้นอะไรบางอย่าง ก่อนที่จะใช้ผู้คนสนับสนุนมากกว่าหนึ่งคนเป็นแรงขับเคลื่อนเว็บไซต์เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน ซึ่งตอนนี้ก็มีการสร้างเว็บประเภทนี้มาหลายประเภทแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมผู้มีฝีมือ ทุน หรือความคิดเห็นต่างๆ
ซึ่งหลักการของเว็บประเภทนี้คือเปิดช่องทางให้ผู้ที่สนใจที่จะเปิดธุรกิจ และคิดว่ามีไอเดียดีมาพรีเซนต์ถึงธุรกิจตัวเองว่ามีรายละเอียด จุดเด่นและความน่าสนใจอย่างไร อาจมีตัวอย่างสินค้าและบริการมาลงไว้เพื่อกระตุ้นความสนใจจากบรรดานายทุนได้มากขึ้น ซึ่งบรรดานายทุนที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นคนทั่วไปที่เข้ามาดูในเว็บแล้วอยากมีส่วนร่วมในการเปิดร้านเหล่านี้ โดยใช้เงินเริ่มต้นเพียง 10$ เท่านั้นก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเหล่านี้ได้แล้ว โดยผลตอบแทนสำหรับนายทุนรายย่อยเหล่านี้ก็คือสินค้าและบริการจากทางร้านตามข้อกำหนดที่ตั้งไว้นั่นเอง ซึ่งโมเดลธุรกิจนี้ถือเป็นการสนับสนุนการสร้างธุรกิจในชุมชนให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนของตัวเอง รวมถึงถ้าหากมีร้านที่น่าสนใจมากๆ ก็จะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมกันได้อีกด้วย
3. แบ่งปันเรื่องราว รูปแบบของเว็บประเภทนี้คือเปลี่ยนจากการแชร์ความคิดเห็น แชร์รูป เป็นการแบ่งปันเรื่องราวที่เราแต่งขึ้น หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงด้วยตัวเราเองแทน ทำให้เว็บประเภทนี้เปรียบเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ ที่รวบรวมประสบการณ์และเรื่องราวที่หลากหลายจากผู้คนทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการเผยแพร่เรื่องเหล่านั้นให้ผู้อื่นได้อ่านและรับรู้เรื่องราวประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจได้บ้าง
4. แสดงตัวตนให้คนอื่นได้รับรู้ เป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับในยุคที่คนส่วนใหญ่ใช้ Social network เป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตนของเราให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ ว่าในขณะนั้น เราคิดอะไรอยู่ เราอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร ก็เป็นสิ่งที่เราต้องการให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งรูปแบบของเว็บประเภทนี้ก็จะมีแตกต่างกันออกไป Foursquare ก็ยังคงเป็นเว็บที่สนุกสำหรับการอัปเดตให้คนอื่นรู้ได้ว่าเราอยู่ที่ใหน พร้อมทั้งยังมีลูกเล่นในการสะสมตราสัญลักษณ์เมื่อเรา check-in ได้ครบตามเงื่อนไขต่างๆ เป็นต้น
5. สร้างแรงผลักดัน เว็บไซต์ประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจคนมีกำลังใจที่จะทำกิจกรรมใดสักอย่างให้สำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ตัวเว็บอาจใช้การจัดอันดับหรือมีลูกเล่นต่างๆ เพื่อสร้างความสนุกสนานและกระตุ้นให้ผู้เข้าใช้สนใจที่จะเริ่มต้นกิจกรรมเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น รวมถึงการแชร์สิ่งต่างๆ ที่ของสิ่งที่เราตั้งใจจะทำว่ามีการพัฒนาไปในทางใดบ้าง ติดปัญหาอะไร หรือมีความคืบหน้ามากแค่ไหน มาให้คนคอยได้ติดตามและช่วยเสนอความเห็นต่างๆ หรือแม้แต่ให้กำลังใจกับพวกเขาได้อีกด้วย
ความต้องการเหล่านี้อยู่รอบตัวเราแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่อยากแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมาให้คนอื่นได้เห็น กลุ่มผู้สนใจลงทุนธุรกิจแต่ยังไม่มีทุน คนที่ชอบแชร์เรื่องราวให้คนอื่น คนที่ชอบแสดงตัวตนของตัวเองให้คนอื่นยอมรับ และสุดท้ายกลุ่มคนที่ต้องการแรงผลักดันในชีวิตเพื่อให้มีกำลังใจไปสู่ความสำเร็จมากขึ้น เพียงแค่เราลองสังเกตว่าคนรอบตัวเราต้องการอะไร เพื่อตอบสนองในความต้องการเหล่านั้น เพียงเท่านี้ธุรกิจที่เราสร้างมาย่อมประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
Credit : Incquity.com