คนไทยใช้ Facebook สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีผู้ใช้เกินกว่า 1 ล้านคนแล้ว เมื่อรวมยอดผู้ใช้ทั่วโลกแล้วก็มีมากกว่า 300 ล้านคน Facebook เริ่มต้นจากการเป็นเครื่องมือที่ใช้แชร์เรื่องราวและรูปภายในกลุ่มเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและศิษย์เก่าเข้าด้วยกัน และจนตอนนี้กลายเป็น Social Media ที่มีผู้ใช้จำนวนมากและกลายเป็นระบบที่มี Application หลากหลายและเปิดการเชื่อมต่อไปยัง Social Media ตัวอื่นๆ อีก การใช้เครื่องมืออย่าง Facebook ถือได้ว่าเป็นการตลาดเชิงรุก เนื่องจากเรานำเรื่องราวของเราไปไว้ในกลุ่มคนที่มีการแชร์เรื่องราวต่อกัน ทำให้กลุ่มคนที่สนใจต่อสินค้าและบริการของเรานั้นสามารถเข้ามาเยี่ยมชม Fan Page ของเรา ให้คำติชม หรือให้ความเห็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการของเราต่างๆได้ ซึ่งเปรียบได้กับการยกสินค้าและบริการของเราจากที่เคยอยู่ในสถานที่ที่หนึ่ง ไปไว้ในชุมชนขนาดใหญ่ ให้ผู้คนที่แวะ เวียนผ่านไปมาได้เห็น ได้บอกเล่าต่อกันและติชมได้
Facebook กลายเป็น Social Media ที่นอกจากจะมีเครื่องมือต่างๆ หลากหลายให้สามารถเข้าไปใช้งานตามความต้องการได้ ยังมีเครื่องมือแสดงค่าสถิติที่สามารถเอามาวิเคราะห์ถึงความคิดของคนที่มาเยี่ยมชมสินค้าและบริการของเราได้ ทั้งยังสามารถสร้าง Badge หรือป้ายไปติดตามที่เว็บไซต์เพื่อส่งต่อเรื่องราวและผลิตภัณฑ์เราผ่านผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บได้อีกด้วย หน้าใน Facebook หลักๆนั้นจะมีอยู่ 3 แบบได้แก่หน้า Profile หน้า Fan Page และหน้า Group
หน้า profile นั้น เป็นหน้าทั่วไปของผู้ใช้่ Facebook ซึ่งจะมีเมนูให้เอาไว้ใส่ลิงก์ เขียนคำติชม คอมเมนท์ อัพโหลดรูปภาพ ข้อมูลส่วนบุคคล ความเห็นต่อสังคม และแสดงหน้า Application ที่ใช้หรืออื่นๆ เรียกได้ว่าหน้านี้แทนหน้า Blog ย่อมๆ
หน้า Fan Page เป็นหน้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง ซึ่งหน้านี้สามารถสร้างได้จากหน้า Profile โดยเข้าไปที่หน้า
create page เมื่อสร้างเสร็จก็ทำการส่งต่อให้เพื่อนๆ หรือคนในเครือข่ายเราให้มารู้จัก อาจจะเริ่มจากคนสนิทก่อน ซึ่งนั่นก็คือการใช้เครือข่ายของเพื่อนเราเองในการโฆษณาให้คนเข้ามาเป็นแฟนคลับ เป็นสมาชิกเกี่ยวกับธุรกิจและบริการของเรา ซึ่งหน้า FanPage นี้ทาง Facebook ก็ให้เราสามารถใส่ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร สินค้าและบริการเอาไว้ได้ และสามารถใช้หน้านี้ทำการประกาศข่าวต่างๆ กิจกรรมหรือโครงการให้ร่วมสนุก รวมถึงสามารถใส่วิดีโอต่างๆ หรือดึงข่าวจาก Blog มาไว้ที่หน้านี้
นอกจากนี้คุณยังสามารถทำออกมาเป็นป้าย (Badge) เพื่อให้สามารถนำไปติดตามเว็บไซต์หรือ Blog ให้คนเข้ามาร่วมเป็นแฟนโดยไม่ต้องเข้ามาใน Facebook ซึ่งในหน้า Fan Page ก็สามารถเปลี่ยนชื่อ url ได้เช่นกัน โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องมีแฟนคลับเป็นสมาชิกเกิน 50 คนขึ้นไป
สามารถเข้าไปสร้างได้ที่หน้า group แตกต่างจากหน้า Fan Page เล็กน้อย เนื่องจาก Group เป็นกลุ่มที่รวมกลุ่มคนที่มีความสนใจในด้านเดียวกันเอาไว้ ซึ่งความแตกต่างจาก Fan Page ก็คือคนที่ทำหน้าที่ดูแลกลุ่มนั้นจะมีสิทธิอนุญาตให้คนที่สนใจเข้ากลุ่มหรือไม่ก็ได้ หรือจะซ่อนหน้ากลุ่มนี้เอาไว้เป็นส่วนตัวก็ได้ ซึ่งแตกต่างจาก Fan Page ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้และไม่สามารถซ่อนเอาไว้ได้
นอกจากนี้ Facebook ยังเปิดให้สามารถสร้าง Application ขึ้นไปเพื่อทำการโปรโมทหรือจะทำโฆษณา เพื่อให้ปรากฎอยู่ Facebook ก็ได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างหน้ากิจกรรมเอาไว้เพื่อโปรโมทกิจกรรมต่างๆ แล้วชวนคนที่สนใจมาร่วมกิจกรรมกันได้ ในต่างประเทศนั้นหลายๆ ธุรกิจประสบความสำเร็จกับการทำการตลาดบน Facebook อย่างมาก เช่น ร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks ก็สร้าง Application ให้คนใน Facebook ร่วมคิดค้นกาแฟและส่งต่อๆ กันเป็นของขวัญให้แก่กัน หรืออย่าง Burger Kings ก็มีกิจกรรมที่ประหลาดโดยการให้คนนั้นยกเลิกการเป็นเพื่อนกับคนใน Facebook เพื่อมาแลกเป็นคูปองได้เบอร์เกอร์ฟรี
สำหรับประเทศไทยมีหลายองค์กรหรือธุรกิจที่เข้าไปจับจองพื้นที่บน Facebook กันอย่างมากในปัจจุบัน และสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายอย่างเช่นตัวอย่างเช่น GTH ค่ายหนังที่เข้ามาสู่ Social Media เต็มตัว ซึ่งใน Facebook ของ GTH นั้นจะมีทั้งหน้า Profile และ Fan Page ซึ่งในส่วนของ Fan Page ก็มีคนเข้ามาเป็นแฟนมากกว่า 20,000 คน และมีกิจกรรมอันหลากหลายให้ทุกคนได้ร่วมสนุกผ่านหน้า Fan Page ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์กิจกรรมหรือภาพยนตร์แบบปากต่อปากให้คนชักชวนเพื่อนมาร่วมสนุกกันได้
ธุรกิจแอลกอฮอล์อย่าง Smirnoff ก็เข้ามาจับจองพื้นที่สร้างกระแสโดยการใช้หน้า Fan Page เป็นที่ประกาศกิจกรรมต่างๆ ว่าจะมีการจัดงานที่ไหน ศิลปินคนไหนจะขึ้นเวที และยังมีการแข่งกับ Fan Page กับธุรกิจอื่นๆ ด้วยว่าใครจะมีแฟนคลับมากกว่ากัน
จากภาคธุรกิจต่างๆ นักการเมืองในไทยก็ใช้ Facebook เป็นตัวชี้วัดความนิยมของตัวเอง ใช้เป็นแหล่งในการสร้างภาพลักษณ์ กระจายข่าวที่ตัวเองไม่เคยได้พูดต่อสื่อหรือแม้กระทั้งสอบถามความคิดเห็นดังตัวอย่างเช่น สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ใช้ทั้งหน้า Profile และหน้า Fan Page เพื่อไว้กระจายข่าวสารของตัวเองรับฟังความเห็นของประชาชน หรือของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ใช้ Facebook เป็นสื่อในการสร้างกระแสให้ตัวเองเช่นกัน
สุดท้ายที่เป็นธุรกิจด้านบันเทิงอย่าง MCOT.net ของสถานีโทรทัศน์อสมท. ก็สร้างหน้า Fan Page ไว้เพื่อเป็นแหล่งกระจายข่าวย้อนหลัง คลิปข่าว คลิปเสียงต่างๆ และรายการย้อนหลังและล่วงหน้า เพื่อให้คนเข้ามาติดตามข่าวสารได้ว่าจะมีอะไรในรายการของ MCOT.net
นอกจากนี้ยังมีภาคการธนาคารอย่าง KTC ที่เข้ามาหาสมาชิกจากใน Facebook โดยการสร้างเครือข่ายใช้การสื่อสารแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน อย่างเช่นการแนะนำร้านอาหารเด็ดๆ การสอบถามสารทุกข์สุกดิบ และมีหน้าโปรโมชั่นหรือกิจกรรมที่เหมือนให้สิทธิพิเศษแก่ผู้เป็นสมาชิก Fan Page ของตัวเองเช่นกัน ซึ่งทำให้ KTC มีแฟนคลับกว่า 5,000 คน
จะเห็นได้ว่า Facebook กลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในยุคนี้ ในการทำการตลาดออนไลน์ และสร้างกระแสแบบปากต่อปากให้มายิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน Facebook สามารถเอาไปผูกกับ Social media อื่นๆ อย่างเช่น Twitter ได้แล้ว ทำให้สามารถรับและส่งข้อความจาก Twitter ไปสู่ Facebook ได้ และกฏเดิมในการใช้ Facebook นั้นคือผู้ใช้ต้องทำตัวเป็นเพื่อนมากกว่ามายัดเยียดขายสินค้า ซึ่งนั่นคือต้องทำการให้ก่อนที่จะรับ และรับฟังความคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงบริการและสินค้าของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
Credit : INCquity