หนึ่งในวิธีหลายๆอย่างที่ภาคธุรกิจจะสามารถร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยเฉพาะในประเด็นการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนก็คือการเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (green sourcing) ซึ่งในกระบวนการจัดซื้อทั่วไปนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือการคิดถึงความคุ้มค่าและผลดีผลเสียของสินค้า บริการ และสิ่งต่างๆที่มีต่อต้นทุนและผลกระทบต่อลูกค้า ในกระบวนการจัดซื้อสีเขียวก็ย่อมใช้แนวคิดแบบเดียวกัน คือมองถึงการเลือกสินค้าและบริการต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด โดยการหาซัพพลายเออร์ที่คำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อมนั้นเอง
แม้ในสหรัฐอเมริกานั้นเรื่องการจัดซื้อสีเขียวก็ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก ในการสำรวจการจัดซื้อสีเขียว (Green purchasing report) ในปี 2007 นั้นพบว่ามีบริษัทเพียงราว 31% ที่เริ่มหันมาจัดการกระบวนการจัดซื้อของตนเองให้รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบแต่ก็กำลังขยายตัว ซึ่งหากการจัดซื้อสีเขียวนั้นผูกโยงกับปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและยาวของธุรกิจ ก็ย่อมจะนำไปสู่ผลประกอบการที่ดีขึ้นซึ่งย่อมทำให้เกิดการขยายตัวของการจัดซื้อสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ในการคิดจัดกระบวนการจัดซื้อ
สีเขียวนั้นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และครอบคลุมถึงผลกระทบของการตัดสินใจใดๆ ต่อทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงคิดแต่การกดราคาซัพพลายเออร์เท่านั้น
ตัวอย่างพื้นฐานก็คือกรณีของหลอดประหยัดไฟแบบ 23 วัตต์ซึ่งราคาในสหรัฐอเมริกาประมาณ 180 บาท ซึ่งแพงกว่าหลอดธรรมดา 100 วัตต์ ที่มีราคาเพียง 20 บาท แต่หากมองเรื่องความคุ้มค่าอย่างเป็นระบบแล้วนั้น หลอดประหยัดไฟซึ่งมีอายุใช้งานมากกว่าหลอดธรรมดาถึงราว 10 เท่าในขณะที่ค่าไฟก็ถูกกว่าถึงราวสามเท่า ซึ่งย่อมทำให้การเปลี่ยนหลอดไฟขององค์กรมาเป็นหลอดประหยัดไฟย่อมจะถูกกว่าหลอดธรรมดามาก อีกกรณีหนึ่งก็คือน้ำมันหล่อลื่นในอุตสาหะกรรม ซึ่งน้ำมันจากปิโตรเลียมนั้นถูกกว่าน้ำมันจากถั่วซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถึงสองเท่า หากพิจารณาจากราคาเพียงอย่างเดียวก็ย่อมจะทำให้การตัดสินใจกระบวนการจัดซื้อสีเขียวนั้นสวนทางกับเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่หากได้พิจารณาถึงผลกระทบทั้งระบบของน้ำมันหล่อลื่นแบบปิโตเลียม จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายแฝงเป็นค่าจัดการของเสีย ค่าจัดการและบำบัดผลจากน้ำมันที่หกอีกถึงเกือบ 3 เท่าของราคาขาย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดแล้วย่อมเห็นได้ว่าแท้จริงแล้ว การใช้น้ำมันหล่อลื่นจากถั่วในอุตสาหะกรรมทั้งระบบนั้นถูกกว่ามาก ทั้งนี้สิ่งที่เป็นหลักการสำคัญก็คือการพิจารณาของผลกระทบทั้งระบบและการจัดการลดการสร้างของเสียในระบบ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับการบริหารจัดการคุณภาพอย่างเป็นระบบ (Total Quality Management -TQM) นั้นเอง
นอกจากนั้นการจัดซื้อสีเขียวยังสามารถส่งผลต่อแบรนด์ของสินค้าและบริการได้อย่างดีอีกด้วย กรณีตัวอย่างเช่นร้านกาแฟสตาร์บัค ซึ่งเดิมกาแฟกับสิ่งแวดล้อมแทบไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน แต่สตาร์บัคมุ่งเน้นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟของตนมาตลอดและผนวกความพยายามดังกล่าวไว้ในการสร้างแบรนด์ของตนเองอย่างเป็นระบบอีกด้วย โดยล่าสุดได้มีการใช้ถุงขยะที่บางลงซึ่งสามารถลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปสู่แหล่งถมขยะ (landfills) ได้ถึง 750,000 ตันต่อปี และยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้ราว 500,000 เหรียญสหรัฐต่อปีอีกด้วย การตั้งเป้าหมายในด้านการจัดซื้อสีเขียวที่วัดผลได้ และกระจายเข้าไปในระบบการจัดซื้ออย่างชัดเจนย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายเพื่อให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นแล้วการจัดซื้อสีเขียวย่อมอาจจะเป็นการทำไปตามกระแส หรือไม่ได้นำไปสู่การคิดบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ในประเด็นดังกล่าวได้ กรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือกรณีของวอลมาร์ต (Wal-Mart) ซึ่งเป็นเครือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา วอลมาร์ตให้ซัพพลายเออร์ของตนให้ข้อมูลที่มีนัยยะเชิงสิ่งแวดล้อม เช่น อัตราส่วนของปริมาณชิ้นสินค้าต่อหีบห่อ อัตราส่วนการนำมาใช้ใหม่ของสินค้า อัตราส่วนการนำวัสดุที่ใช้แล้วมาใช้ของสินค้าชิ้นนั้นๆ ซึ่งวอลมาร์ตจะให้คะแนนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของซัพพลายเออร์รายต่างๆของตน เพื่อนำไปตั้งเป้าหมายและจัดการด้านการจัดซื้อสีเขียวในลักษณะต่างๆ เช่นการลดจำนวนหีบห่อของสินค้าลง 5% ในปี 2013 ซึ่งมีสินค้ากว่า 97,000 รายการที่เข้ากระบวนการให้คะแนนดังกล่าว ซึ่งย่อมเป็นการสร้างแรงจูงใจที่จะให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถได้ประโยชน์หรือลดความเสี่ยงจากระบบคะแนนด้านการจัดซื้อสีเขียวของวอลมาร์ต
นอกจากการเลือกซัพพลายเออร์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ในโลกแห่งการแข่งขันขนาดใหญ่ที่แทบไร้เขตแดนนั้น การร่วมลงทุนสนับสนุนซัพพลายเออร์ให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในเชิงสิ่งแวดล้อมและต้นทุนที่ดีขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเหล่าบริษัทข้ามชาติที่ต้องมีเครือข่ายบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่ร่วมเป็นหุ้นส่วนในการการดำเนินงานกันอย่างกว้างขวาง ดังเช่นบริษัทเจนเนอเรลอีเล็กทริกส์ (General Electrics -GE) ซึ่งลงทุนนับพันล้านเหรียญสหรัฐฯในการลงทุนไปยังบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่เป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพของการใช้พลังงานและพลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายให้เกิดเครือข่ายทางนวัตกรรมที่มี GE เป็นผู้นำซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของ GE เอง
จะเห็นได้ว่าการจัดซื้อซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของทุกธุรกิจนั้นมีบทบาทอย่างยิ่ง ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อสังคม (CSR) ในภาพรวมอีกด้วย แนวทางสำคัญในการดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จก็คือการพิจารณาการจัดซื้อต่างๆอย่างเป็นระบบรอบด้าน ไม่ใช่เพียงคิดจากราคาขายของสินค้าหรือบริการต่างๆแต่อย่างเดียว และยังควรคิดในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งต่อการสร้างแบรนด์ และการจัดการเป้าหมายการจัดซื้อสีเขียวที่เป็นรูปธรรม วัดผลได้ และมีผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพและผลการประกอบการของบริษัทในที่สุด
Credit : www. green.in.th
By : www.SoGoodWeb.com
ฃ