สมดุลและต้นทุนในโซ่อุปทาน ของที่มีก็ไม่อยากได้ ของอยากที่ได้ก็ไม่มี เป็นคำบ่นแบบปลง ๆ ของทั้งผู้ประกอบการ และลูกค้าที่ผู้เขียนมักได้ยินบ่อยครั้งเมื่อครั้งเข้าทำงานในภาคองค์กร ธุรกิจ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาพื้นฐานแต่สำคัญยิ่งในการจัดการสินค้าคงคลังที่หลาย องค์กรกำลังประสบอยู่บางองค์กรอาจกำลังหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงใจ
ในขณะที่หลายองค์กรก็อาจเพียงแค่บ่น ๆ กันว่าทำไมปัญหาที่ดูเหมือนเป็นเรื่องพื้น ๆ เช่นนี้มันถึงได้เกิดซ้ำซาก (โดยที่ไม่รู้จริงด้วยซ้ำว่าเกิดซ้ำซากบ่อยแค่ไหน และรุนแรงเท่าไร) แล้วอาจแถมพ่วงด้วยการหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเองและโยนความผิดไปให้ฝ่ายอื่น รับผิดชอบโดยปราศจากการหามาตรการที่มีประสิทธิผลในการปรับปรุงและป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดซ้ำกันอย่างจริงจังแต่อย่างใด
โจทย์ที่สำคัญและเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจก็คือการจัดการสินค้าคงคลังในโซ่อุปทานที่ต้องพยายามทำให้อุปทานของผู้ผลิตกับอุปสงค์ของผู้บริโภค มีความสมดุลกันหรือเท่ากันพอดี (Balance of Demand and Supply) หากอุปทานของผู้ผลิตมากกว่าอุปสงค์ของผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าขององค์กรธุรกิจก็จะทำให้เกิดสต็อกสินค้าคงคลังและมีค่าใช้จ่ายในการจัดการสินค้าคงคลังมาก (Inventory Cost) ในทางตรงกันข้ามหากอุปสงค์ของลูกค้ามากกว่าอุปทานของผู้ผลิตก็จะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการขาย (Opportunity Cost)
ดังนั้นหากบริษัทสามารถจัดหาสินค้ามาตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ใกล้เคียงความต้องการจริงของลูกค้าโดยไม่ขาดหรือไม่เกินมากเท่าไรก็จะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการจัดการสินค้าคงคลังของบริษัทได้มากเท่านั้นและจะส่งผลไปถึงประสิทธิภาพในการทำกำไรที่ดีที่สุด (Profit Maximization) ของบริษัทอันเกิดจากยอดขายที่สูงขึ้น (จากการสูญเสียโอกาสในการขายที่ลดลง) และต้นทุนที่ต่ำลง (จากต้นทุนการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่ต่ำลง)
Credit : logisticscorner
By : www.SoGoodWeb.com