จากทฤษฎีการบริหารการจัดการโซ่อุปทาน จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบและกระบวนการในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน การประยุกต์ใช้การบริหารจัดการโซ่อุปทานในธุรกิจ รวมถึงการจัดการความสมดุลระหว่างต้นทุนและราคาในโซ่อุปทาน ปัจจัยด้านหนึ่งที่สำคัญมากคือ ปัจจัยด้านผู้ส่งมอบซึ่งเป็นตัวแปรหลักที่ส่งผลทางด้านต้นทุนและความสามารถในการตอบสนองลูกค้า เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าทฤษฎีต่างๆ ในเรื่องการบริหารจัดการโซ่อุปทานชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการความสัมพันธ์ การบริหารการร่วมมือในเครือข่าย การจัดการความน่าเชื่อถือ และ การรวมพลังทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ส่งมอบ
การบริหารผู้ส่งมอบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการโซ่อุปทาน ผู้ส่งมอบแต่ละรายมีความสำคัญไม่เท่าเทียมกันเพราะความถี่ของความต้องการ, ปริมาณความต้องการ, มูลค่าของวัสดุ และสภาพการณ์ทางการตลาดของวัสดุนั้นมีความแตกต่างกัน การบริหารงานผู้ส่งมอบแต่ละรายจึงควรที่จะต้องแตกต่างกันไป เพื่อประโยชน์สูงสุดในการส่งมอบสินค้าและบริการได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของลูกค้า (ธนัญญา วสุศรี , 2550) ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ในการบริหารจัดการผู้ส่งมอบในโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการบริหารความสัมพันธ์กับผู้ส่งมอบ (Supplier Relationship Management) การจัดการความสัมพันธ์ในโซ่อุปทานถือเป็นหัวใจของความสำเร็จที่สำคัญที่สุดหากไม่สามารถพัฒนาตรงจุดนี้ได้ก็ยากที่จะไปพัฒนาในส่วนอื่นๆ และนำไปสู่การล้มเหลวของโซ่อุปทาน
Coyle, et al. (2003)กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความสำเร็จในการบริหารจัดการโซ่อุปทานและนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของการจัดการโซ่อุปทานคือการบริหารทุกองค์กรตลอดทั้งโซ่อุปทานเปรียบดั่งว่าเป็นเพียงองค์กรเดียว การให้ประสานงานและความร่วมมือระหว่างพันธมิตรได้ถูกกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวาง ในการสร้างความสัมพันธ์กันภายในโซ่อุปทานนั้นนอกจากจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วนั้น การวางแผนกลยุทธ์ร่วมกันก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันหลายองค์กรทั่วโลกมีความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับผู้ส่งมอบ เนื่องจากการบริหารความสัมพันธ์ของผู้ส่งมอบจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของลูกค้า และยังทำให้สามารถลดต้นทุนรวมตลอดทั้งโซ่อุปทานเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
บทความโดย : ธิดารัตน์ ภัทราดูลย์