โดยปกติแล้วเรามักจะคุ้นเคยกับการขายสินค้าผ่านออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นแบบบ้านๆ อย่างการประกาศขายตามหน้าเว็บบอร์ดต่างๆ หรือเป็นการตั้งร้านออนไลน์บนเว็บผู้ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น tarad, weloveshopping, lnwshop.com เป็นต้น และล่าสุดกับการเปิดหน้าร้านบน Facebook Page ที่เราถูกเชิญ(แกมบังคับ)จากเพื่อนๆ ให้มาช่วยกด Like แต่สำหรับข่าวนี้จะเป็นการแนะนำเครื่องมือใหม่ที่มาช่วยขายของผ่านรูปภาพที่ถูกแชร์บนช่องทางโซเชียลมีเดียได้โดยตรง
เครื่องมือช่วยขายสินค้าแนวใหม่บนโซเชียลนี้เรียกว่า Stipple Shopping โดยเป็นช่องทางที่เปิดให้ผู้ขายของหรือเจ้าของสินค้านั้นสามารถขายของผ่านรูปภาพที่ถูกนำมาแชร์บน Facebook และ Twitter ซึ่งเป็น 2 ช่องทางที่มีผู้ใช้งานกันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบัน เมื่อแบรนด์ต่างๆ มีสินค้าชนิดใหม่หรือรุ่นใหม่เปิดตัว ทางเจ้าของสินค้าก็สามารถที่จะทำการแชร์รูปภาพสินค้านั้นบน Facebook และ Twitter และเมื่อมีคนที่สนใจได้เห็นภาพสินค้านั้น ก็จะสามารถที่จะสั่งซื้อสินค้าได้จากรูปที่แชร์ได้เลยโดยตรง
นอกจากคุณสมบัติ เล็งแล้วสอย แล้ว Stipple Shopping ยังเปิดให้ผู้ที่ใช้งานได้ค้นหาสินค้า รวมทั้งเปรียบเทียบและซื้อสินค้าได้โดยทั้งหมดทำผ่านภาพถ่าย โดยสามารถเปิดดูสินค้าหลายๆ แบบ และแน่นอนว่าดูโปรโมชันต่างๆ ได้จากหน้าจอเดียวทั้งบนหน้า Facebook, Twitter หรือจะเป็นภายในหน้าเว็บไซต์ (in-line) ซึ่งก็แก้ปัญหาที่ในปัจจุบันที่เวลาเลือกซื้อสินค้าแต่ละครั้งจะต้องทำการเปิดหาข้อมูลหลายๆ หน้าต่างสลับไปมา จนอาจทำให้งงจนทำให้ไม่อยากซื้อด้วยความยุ่งยากที่เกิดขึ้นนี้
การที่มีบริการที่เปิดให้สามารถทำการซื้อสินค้าได้ผ่านรูปโดยตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ทำรายได้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องไปเสียเวลา tag รูปสินค้าต่างๆ และด้วยบริการนี้ก็จะทำให้ลูกค้าสามารถที่จะดูรูปถ่ายและวิดิโอของสินค้า, รายละเอียดของสินค้าได้ในหน้าจอเดียว รวมทั้งสามารถนำเอาสินค้าที่เกี่ยวข้องมาแสดง เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าให้มากขึ้นอีกด้วยด้วยการย้ำว่าทุกอย่างนั้นทำด้วยระบบของเขาเองรวมถึงการจ่ายเงินซื้อสินค้า เลยทำให้ทาง Stipple Shopping ออกมาอ้างถึงความปลอดภัยในระบบการจัดการเรื่องเงิน พร้อมทั้งมีระบบการจัดการทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมั่นใจได้ว่าจะจ่ายเงินและได้รับเงินอย่างถูกต้องสมบูรณ์แน่นอน แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะมีการเรียกใช้บริการของเจ้าอื่นอย่าง Paypal อีกต่อด้วยหรือเปล่านะครับ
นับเป็นอีกบริการที่ออกมาตอบโจทย์กับคนที่จมอยู่กับโลกแห่งโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างปัจจุบันให้สามารถซื้อสินค้าได้แบบง่ายๆ ด้วยบริการนี้คำถามที่ผมสงสัยอย่างหนึ่งก็คือ จริงอยู่ว่าเราอยู่ในยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่เราก็อยู่ในยุคของโมบายล์ด้วยเช่นกัน การที่ทำสิ่งนี้ออกมาอาจไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งสองข้อได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นแล้วบริการนี้น่าจะมีอะไรที่ออกมาเติมเต็มหรืออุดช่องว่างนี้ หรือว่าเขาจะเน้นแค่อย่างเดียวเลยหรือเปล่า
Credit : thumbsup