5 เหตุผลที่ทำเว็บขายของออนไลน์แล้วแต่ไม่มีคนซื้อ

5 เหตุผลที่ทำเว็บขายของออนไลน์แล้วแต่ไม่มีคนซื้อ



1. ไม่มีคนเข้าเว็บ

ปัญหานี้คงเป็นปัญหาใหญ่หนักอกหนักใจเจ้าของเว็บไซต์หลายๆ คน โดยเฉพาะเว็บขายของออนไลน์ เพราะถ้าคนไม่เข้าชมเว็บก็จะไม่สามารถขายของได้ นอกจากนี้บางคนก็อาจจะเข้าใจว่าแค่มีเว็บไซต์เดี๋ยวก็มีคนเข้ามาดู ซึ่งความคิดนี้ผิดถนัด เพราะเราต้องเป็นผู้ที่หาคนเข้าเว็บไซต์เอง

เราสามารถวัดการเข้าเว็บไซต์ได้หรือที่เรียกว่า Website Traffic ได้ โดยสามารถวัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สำหรับเชิงปริมาณจะเป็นจำนวนคนที่เข้าเว็บ จำนวนครั้งที่คลิกเปิดเว็บไซต์ เป็นต้น ส่วนเชิงคุณภาพจะเป็นระยะเวลาในการชมเว็บไซต์ ซึ่งต้องอยู่บนหน้าเว็บไซต์นานประมาณหนึ่ง ไม่ใช่คลิกเข้ามาแล้วออกเลย ไม่เปิดดูหน้าอื่นเลย เป็นต้น

ข้อมูลที่กล่าวมานี้สามารถทราบได้ด้วยการติดตั้ง Google Analytics ที่เป็นเครื่องมือฟรีของทาง Google ที่ใช้ในการวิเคราะห์เว็บไซต์ ในส่วนของการตรวจเช็ค Website Traffic ทาง Google Analytics แบ่งแหล่งที่มาของ Traffic ได้ 5 ช่องทาง คือ Organic SearchPaid SearchSocialReferral และ Direct

*สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมว่าแต่ละแบบมีที่มาจากอะไรได้ที่บทความ Website Traffic คืออะไร? จะเพิ่มยอด Traffic ได้อย่างไร?

 

นอกจาก 5 ช่องทางดังกล่าวแล้ว เราสามารถเพิ่ม Website Traffic ได้โดยทำการตลาดออนไลน์เพื่อโปรโมทธุรกิจของเรา ซึ่งกลยุทธ์ของการตลาดที่เหมาะสมกับเว็บไซต์แบบ E-Commerce ก็มีดังนี้

• การทำ SEO

เพื่อให้คนค้นเจอเว็บไซต์ของเราผ่าน Google (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ SEO (Search Engine Optimization) คือ?)

• การทำ Google Ads (Google Adwords)

เพื่อลงโฆษณาเว็บไซต์ของเราเวลามีคนค้นหาใน Google (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ PPC (Pay Per Click) คือ?) หรือการลงโฆษณาตามเว็บไซต์ต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ GDN (Google Display Network) คือ?)

• การทำ SMM

เพื่อโปรโมทธุรกิจของเราผ่าน Social Media อย่าง Facebook, Instagram, Twitter, LINE (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ SMM (Social Media Marketing) คือ?)

• การทำ Content Marketing

สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้กลายมาเป็นลูกค้าของเรา

• การทำ Influencer Marketing

โดยการจ้างผู้มีอิทธิพลบนโลกอินเตอร์เน็ตมาช่วยโปรโมท เพื่อทำให้คนคล้อยตามและอยากซื้อสินค้าของเรา (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Influencer Marketing คือ?)

• การทำ Affiliate Marketing

โดยใช้ตัวกลางในโลกออนไลน์ช่วยโปรโมทหรือรีวิวสินค้า และให้ค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิสชั่นเมื่อมีการขายสินค้าได้

*สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของแต่ละวิธีได้ที่ E-Commerce (อีคอมเมิร์ซ) คืออะไร? ใช้กลยุทธ์การตลาดโปรโมทสินค้าอย่างไรให้ขายได้

 

2. เว็บไซต์ไม่น่าใช้งาน

หลายคนอาจจะเคยเจอเว็บไซต์ที่คลิกเข้าไปดูแค่ไม่นานก็รีบกดออก เพราะหน้าเว็บอ่านยาก ตัวหนังสือเล็กหรือใหญ่เกินไป ไม่รองรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟน ดูยากว่าเมนูอะไรอยู่ตรงไหน หรือเว็บโหลดช้า โหลดไม่ขึ้นเสียที ปัญหาเหล่านี้มักเริ่มต้นจากการออกแบบเว็บไซต์ที่ไม่ดี รวมทั้งไม่ได้พัฒนาเว็บไซต์ให้เป็นไปตามการใช้งานในยุคปัจจุบัน โดยแนวทางการแก้ไขนั้นก็มีดังนี้

• เว็บไซต์ที่ยังไม่รองรับการใช้งานบนอุปกรณ์มือถือหรือที่เรียกว่า Mobile-friendly

ควรรีบปรับปรุงอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นจำนวนมาก โดยการออกแบบเว็บไซต์เดียวที่รองรับทุกขนาดหน้าจอไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน นั้นก็เรียกว่า Responsive Web Design (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Responsive Web Design คือ?)

• เว็บไซต์ที่โหลดช้ามีอยู่หลายสาเหตุ

ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อความเร็วก็มี Server, Script Code และ Network ซึ่งถ้าหากเว็บไซต์โหลดช้าก็ต้องปรับปรุงทั้ง Server ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการเขียน Code ของเว็บไซต์ไม่ให้ซับซ้อนมากเกินไป

• เว็บไซต์ที่ใช้งานยาก

ในที่นี้หมายถึงการจัดวางองค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ควรเริ่มต้นจากการสำรวจโครงสร้างของเว็บไซต์ตัวเองก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางรูปแบบเลย์เอาท์หน้าเว็บ การแบ่งหมวดสินค้า การทำเมนูและปุ่มนำทาง จำนวนขั้นตอนการสั่งซื้อและวิธีการชำระเงิน แล้วลองเปรียบเทียบกับเว็บคู่แข่งหรือเว็บไซต์ดังๆ เพื่อหาจุดบกพร่องหรือจุดที่ควรปรับปรุงในเว็บไซต์ของเรา

 

3. เว็บไซต์ไม่น่าเชื่อถือ

ความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ นอกจากความสวยงามและการใช้งานที่ง่ายบ่งบอกถึงความใส่ใจกับผู้ใช้แล้ว อีกสิ่งสำคัญคือความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน

• การตั้งชื่อเว็บไซต์และโดเมน

หากเป็นไปได้ควรตั้งชื่อที่สื่อความหมายได้หรือเป็นชื่อเฉพาะ อย่างชื่อแบรนด์ ชื่อบริษัท ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือได้ อีกทั้งยังสามารถบ่งบอกตัวตนเราได้ดีด้วยเวลานำเว็บไซต์ไปโปรโมท

• เนื้อหาบนเว็บไซต์ทั้งข้อมูลและรูปภาพ

บางครั้งที่ลูกค้าเข้ามาแล้วไม่ซื้อสินค้า ไม่ใช่เพราะหน้าเว็บไม่สวย หรือใช้งานยาก แต่เป็นเพราะข้อมูลไม่ครบถ้วนนั่นเอง จึงควรระบุให้ชัดเจน เช่น ถ้าขายเสื้อผ้าต้องบอกว่ามีไซส์อะไรบ้าง ขนาดเท่าไหร่ สีอะไร เนื้อผ้าแบบไหน ราคาเท่าไหร่ รวมรูปภาพสินค้าควรมีหลายมุม เห็นรายละเอียดได้ชัดเจน ไม่ควรให้ลูกค้าต้องเสียเวลามาสอบถามกับผู้ขาย เมื่อดูข้อมูลแล้วกดสั่งซื้อบนเว็บไซต์ได้เลย

• ข้อมูลร้านค้าหรือบริษัท

ร้านค้าออนไลน์ควรจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับร้านค้าออนไลน์ แล้วจะได้เครื่องหมาย DBD Registered มาติดตั้งที่เว็บไซต์ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ซื้อได้ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบได้ โดยทำเมนู About us เพื่อใส่เนื้อหาเกี่ยวกับบริษัท เช่น ที่ตั้ง ความเป็นมา รวมถึงเบอร์โทรศัพท์หรือโซเชียลมีเดียลที่ติดต่อได้และต้องมีคนคอยตอบลูกค้าหากมีการติดต่อเข้ามาด้วย

เว็บไซต์ควรมีการติดตั้ง SSL (Secure Sockets Layer)

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเว็บไซต์ E-Commerce ที่มีระบบล็อคอินสมาชิกและการชำระเงิน ซึ่ง SSL นั้นเป็นเทคโนโลยีการเข้ารหัสข้อมูล เพื่อให้การรับส่งข้อมูลบนเครือข่ายมีความปลอดภัย โดยจะรับส่งข้อมูลผ่าน URL ที่เป็น https:// หรือสังเกตได้จากแถบ Address Bar มีสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจนั่นเอง

 

4. ราคาสินค้าสูงกว่าเว็บไซต์อื่น

การขายของออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เพราะลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าแบบเดียวกันจากหลายๆ เว็บไซต์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าเจอสินค้าที่ราคาถูกกว่าที่เว็บไซต์อื่น ลูกค้าย่อมเลือกซื้อที่เว็บไซต์นั้น วิธีแก้ปัญหาอาจทำโปรโมชั่น ส่งฟรี ให้ของแถม หรือสะสมแต้ม แล้วแต่แผนการตลาดที่กำหนดขึ้น รวมทั้งการให้บริการที่เหนือกว่าคู่แข่งเพื่อให้ลูกค้าประทับใจ แม้ว่าเราจะตั้งราคาสูงกว่า แต่เราบริการดีกว่า ก็ทำให้ลูกค้าอยากซื้อของกับเรา

 

5. มีแต่รีวิวแย่ๆ

ปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในปัจจุบันก็คือ รีวิว เพราะลูกค้าไม่ค่อยเชื่อการอวดอ้างสรรพคุณตามโฆษณาต่างๆ จากผู้ขาย จึงหาจากรีวิวจากแหล่งอื่น ดังนั้นถ้าสินค้าในเว็บไซต์ของเราหรือการบริการของเราได้รับการรีวิวตามเว็บบอร์ดอย่างพันทิพหรือโซเชียลมีเดียไปในทางที่แย่ เช่น สินค้าจริงไม่ตรงกับรูปบนเว็บไซต์ ส่งสินค้าช้า แพ็คสินค้าไม่ดี แม่ค้าตอบช้า พูดจาไม่ดี ก็จะทำให้คนหันไปซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อื่นๆ ได้ ดังนั้นเราต้องใส่ใจในการบริการทุกขั้นตอนด้วย ไม่ใช่เพียงทำให้เว็บไซต์ดูสวยงามเท่านั้น

 

ถ้าหากสำรวจเว็บไซต์ของตนเองแล้วพบว่ามีปัญหาตาม 5 ข้อดังที่กล่าวมา ควรรีบแก้ไขโดยด่วน เพราะยิ่งแก้ไขช้า ลูกค้าก็จะยิ่งหดหาย ของก็ยิ่งค้างสต๊อค หรือถ้ามีรีวิวแย่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเว็บไซต์อย่างมาก กว่าจะกู้ชื่อเสียงคืนมาได้ก็อาจต้องใช้เวลาพอสมควร ทำให้เสียโอกาสในการขายของไปมากมายเลยทีเดียว



ที่มา: seo-web.aun-thai

โดย :
 2627
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดูแลสมาร์ทโฟนที่รักของคุณอย่างไร? ไม่ให้กลายเป็นระเบิดเคลื่อนที่ ปัจจุบันสมาร์ตโฟนได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของเราแบบขาดกันไม่ได้ เปรียบได้ดั่งขาดเธอเหมือนขาดใจ แต่จะมีสักกี่คนที่รับรู้ถึงความเสี่ยงว่าที่ถืออยู่ในมือคุณ
กลยุทธ์ที่เคยใช้ในที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป รวมทั้งเทคนิคอย่างเช่น SEO ที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำอย่างมาก วันนี้เราจะแนะนำ สิ่งที่จะทำให้เว็บไซต์คุณไม่ล้าสมัยอีกต่อไป
ปัญหาเว็บไซต์ล่ม ถือเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเคยเจอ แต่ไม่รู้ว่าจะมีวิธีการแก้ไขยังไง วันนี้ทางเราจึงรวบรวมวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ล่ม มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก มีวิธีการอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์