ต้องยอมรับว่าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ นั้น นับว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานมาก ทั้งยังเพิ่มความร้อนให้กับโลกของเรามากเช่นกัน ในยุคที่คอมพิวเตอร์ครองโลกอยู่ในขณะนี้ ทั้งยังมีแนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้นในอนาคต คนไอทีที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่เป็นกิจวัตร สามารถช่วยลดการใช้พลังงานด้วยมือคุณได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เพื่อรักษาโลกสีเขียวของเราให้มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามต่อไป
นอกจากจะปิดคอมพิวเตอร์ทุกครั้งก่อนกลับบ้านแล้ว การตั้งค่าพักหน้าจอ เมื่อไม่ใช้งานเป็นเวลานาน หรือตั้ง sleep mode ก็สามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ อย่างไรก็ดีแม้จะตั้ง sleep mode ไว้แล้ว คอมพิวเตอร์ก็ยังกินไฟมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ คุณอาจใช้การปิดหน้าจอร่วมด้วยทุกครั้งเวลาไปประชุม หรือตอนพักกลางวัน
หากจะเลือกซื้อหรืออัพเกรดเครื่องคอมพิวเตอร์ พีซี โน้ตบุ๊ก หรือจอมอนิเตอร์ ให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ Energy Star หรือ EPEAT (Electronic Product Protection Tool) ซึ่งบ่งบอกระดับความสามารถในการรักษาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 3 ระดับ คือ ทอง เงิน และทองแดง จัดทำโดย Environmental Protection Agency ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ควรเลือกเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีฟังก์ชันในการประหยัดพลังงาน เช่น การตั้งค่า sleep mode อัตโนมัติเมื่อไม่ได้ใช้งาน หรือสามารถถอดอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ไม่จำเป็นออกได้ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว
อุณหภูมิภายในห้องดาต้าเซ็นเตอร์ของคุณต่ำเกินไปหรือไม่ ปรับอุณหภูมิดาต้าเซ็นเตอร์ให้อยู่ระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส โดยความชื้นสัมพัทธ์ควรอยู่ระหว่าง 20-80 เปอร์เซ็นต์ เครื่องคอมเซิร์ฟเวอร์ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
ซื้ออุปกรณ์แบบมัลติฟังก์ชัน ที่มีทั้งแฟกซ์ สแกนเนอร์ พริ้นเตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสารครบในเครื่องเดียว แทนการซื้ออุปกรณ์แบบแยกชิ้น เนื่องจากการใช้อุปกรณ์แบบมัลติฟังก์ชันนี้สามารถช่วยในการประหยัดพลังงานได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์
ตั้งค่าดีฟอลต์การพิมพ์เอกสาร โดยกำหนดให้พิมพ์เอกสารครั้งละ 2 หน้า หรือหลีกเลี่ยงการพิมพ์ลงกระดาษ แล้วหันมาส่ง ฟังก์ชันหากันแทน ก็จะสามารถลดปริมาณการใช้กระดาษลงได้มาก
เลือกใช้ตลับหมึกที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยลดปริมาณขยะได้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์
เมื่อคุณได้ประโยชน์จากการใช้คอมพิวเตอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ก็อย่าลืมที่จะคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้คงไม่ยากเกินไปที่จะทำเพื่อช่วยดูแลโลกที่คุณอยู่ให้สวยสดงดงามต่อไปด้วยมือคุณเอง
Posted in งานไอที by Sirilak Uttayarath on .