21 ตัวช่วยประหยัดภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือนต้องรู้ !

21 ตัวช่วยประหยัดภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือนต้องรู้ !

     ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี ถึงช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้ว และสิ่งสำคัญที่สุดใน การขอลดหย่อนภาษี เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีให้กับตัวเอง มีอยู่หลากหลายวิธี เราลองมาดูกันว่าสำหรับในปีภาษี 2559 ที่จะยื่นภาษีกันในช่วงต้นปี 2560 มีหนทางไหนที่ช่วยลดหย่อนภาษีให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเราบ้าง
     
     ในปีภาษี 2559 ยังคงใช้ฐานภาษีและสิทธิ์ลดหย่อนแบบเดิมอยู่ ส่วนโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบใหม่ จะมีผลตั้งเเต่วันที่ี 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป 

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2559

     เงินได้ที่ได้รับในปี 2559 ยังคงใช้โครงสร้างภาษีแบบเดิม คือ เงินได้ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้น ส่วนที่เกินมานั้นให้คิดตามขั้นบันได สูงสุด 35% ดังตาราง



รายการที่สามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2559
 
1. ลดหย่อนส่วนบุคคล  ใช้ลดหย่อนภาษีได้ทันที 30,000 บาท
* กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้พิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นผู้อยู่ในไทย และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น
* กรณีเป็นผู้สูงอายุ มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษี จะได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น

2. ลดหย่อนจากคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้  ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท สำหรับสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรส โดยคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมาคำนวณภาษีพร้อมกัน

3. ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร และการศึกษาบุตร
ค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบุตร นับจากบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นได้ทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรตามกฎหมาย โดยหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน (มากสุด 45,000 บาท) ในกรณี
• บุตรมีอายุอยู่ระหว่างแรกเกิดจนถึง 20 ปีในปีภาษีนั้น
• บุตรมีอายุระหว่าง 21-25 ปีในปีภาษีนั้น และกำลังศึกษาในระดับ ปวส. ขึ้นไป
• บุตรมีอายุ 25 ปีขึ้นไปในปีภาษีนั้น และเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
ในกรณีที่บุตรศึกษาในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับอนุบาล-ปริญญาเอก สามารถลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท รวมเป็นคนละ 17,000 บาท
     ทั้งนี้บุตรที่จะนำมาใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีนั้น จะต้องไม่มีรายได้ในภาษีเกิน 15,000 บาทขึ้นไป หรือรายได้ที่มีนั้นได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย เช่น บุตรที่อายุไม่เกิน 20 ปีและรับเงินปันผล ซึ่งเงินปันผลนั้นจะถือว่าเป็นเงินของผู้ปกครอง และไม่ถือว่าบุตรมีรายได้

4. ลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม  ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยเป็นดอกเบี้ยจากเงินกู้การเช่าซื้อบ้าน คอนโด หรือที่อยู่อาศัย โดยมีเงื่อนไขคือ
- ต้องเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายในประเทศ เช่น ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐต่าง ๆ โดยทรัพย์สินที่กู้ ต้องใช้มาเป็นหลักในการค้ำประกันการกู้ (จำนอง) 
- ต้องเป็นการกู้เพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่ บนที่ดินของตัวเองหรือกู้เพื่อซื้อคอนโดมิเนียม
- หากมีการกู้สำหรับที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง สามารถใช้ลดหย่อนรวมกันได้ทุกแห่ง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- กรณีกู้ร่วมกันหลายคน ก็ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่า ๆ กัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนเช่นกัน

5. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา  ลดหย่อนจากบิดา-มารดา (ตัวเอง) และบิดา-มารดาคู่สมรส ได้คนละ 30,000 บาท มากสุดไม่เกิน 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ต้องให้บิดา-มารดาออกหนังสือรับรองการเลี้ยงดู ให้กับบุตรที่จะขอลดหย่อนภาษีด้วย เพราะลูกที่จะรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี จะสามารถใช้สิทธิ์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

 ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา-มารดา

6. ลดหย่อนจากประกันชีวิต  สำหรับการขอลดหย่อนด้วยการซื้อประกันชีวิตนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
  - ประกันชีวิตแบบทั่วไป  ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม ส่วนเบี้ยประกันเพิ่มเติมจำพวกประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่วนผู้ที่คู่สมรสมีประกันชีวิตอยู่หรือซื้อประกันชีวิตให้คู่สมรสไว้ และคู่สมรสไม่มีรายได้ แต่ยังจ่ายเบี้ยประกันอยู่ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท เพราะเมื่อไม่มีรายได้ จึงไม่จำเป็นต้องหักลดหย่อนภาษีนั่นเอง (ส่วนที่เหลืออีก 90,000 บาทเป็นการยกเว้นจากรายได้)
  - ประกันชีวิตแบบบำนาญ  ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึง 85 ปี และที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

7. ลดหย่อนจากเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดา  ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดา-มารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดา-มารดาต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป

8. ลดหย่อนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long term equity fund (LTF) LTF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ซื้อหน่วยลงทุน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นผลตอบแทนด้วย คือ สามารถซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น [ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๕๗)] แต่ไม่เกิน 500,000 บาท และกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
     ทั้งนี้ ได้มีการปรับเงื่อนไขการถือครอง LTF ใหม่ โดยผู้ที่ซื้อ LTF ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปี (หรือ 5 ปี 2 วัน) จากเดิม 5 ปี (หรือ 3 ปี 2 วัน) ซึ่งจะนับตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อ LTF ปี 2559 จะต้องถือไว้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นอย่างน้อย และไม่สามารถโอนหรือจำนำไปเพื่อเป็นหลักประกันได้
   *ตัวอย่างการคำนวณลดหย่อนภาษีจาก LTF เช่น ผู้มีรายได้สุทธิ 3 ล้านบาทต่อปี หากสมมติว่าเสียภาษีในอัตราสูงสุดคือ 30% เมื่อคำนวณแล้วจะเท่ากับ 9 แสนบาท แต่เมื่อซื้อกองทุน LTF 15% ของรายได้เเล้ว จะสามารถซื้อกองทุน LTF ได้วงเงินสูงสุด 450,000 บาท จึงนำรายได้สุทธิ 3 ล้านนั้น หักลดหย่อนจากกองทุนออก 450,000 เท่ากับ 2,550,000 บาท ก็จะได้เงินสุทธิที่เหลือจริง แล้วจึงนำไปคำนวณการจ่ายภาษีที่ 2,550,000 X 30% = 765,000 บาท ซึ่งจะลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายภาษี 9 แสนบาท

9. ลดหย่อนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)  RMF เป็นกองทุนรวมที่จัดขึ้นเพื่อการออมและการลงทุนในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลดหย่อนภาษีคือ หักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น [ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๒๕๙)]แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่ถ้ามีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญแล้ว เมื่อนำมารวมกับเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF แล้วก็หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาทเช่นกัน

สามารถคิดตามสูตรได้คือ RMF + กบข. + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนครูโรงเรียนเอกชน + ประกันชีวิตแบบบำนาญ รวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท

10. ลดหย่อนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนเงินออมของสมาชิก ซึ่งกำหนดให้สมาชิกของ กบข. ต้องจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน กบข. 3% ในแต่ละเดือน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้อีก 3% ด้วยเช่นกัน โดยสมาชิกที่จ่ายเงินสมทบเข้า กบข. นี้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

11. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  สมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เมื่อรวมกับ RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

12. ลดหย่อนจากกองทุนการออมแห่งชาติ  ผู้ที่เป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้า กอช. ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมในลักษณะเดียวกันแล้ว ต้องไม่เกินกว่าจำนวนตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด

13. ลดหย่อนจากการจ่ายประกันสังคม เงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่บุคคลที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท อันมาจากการคำนวณรายได้สูงสุดที่เดือนละ 15,000 บาท

14. ลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์  สืบเนื่องจากมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ซื้อบ้านให้กับประชาชนเมื่อปี 2558 โดยให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปนั้น
     ผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังแรกในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำ 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี หรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของราคาบ้านเป็นเวลา 5 ปีนั่นเอง ซึ่งสิทธิ์การลดหย่อนส่วนนี้ จะแยกกับการลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านอีกด้วย
     ตัวอย่างเช่น ซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรกราคา 3 ล้านบาท จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ปีละ 120,000 บาท โดยบ้านที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2558 จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2558-2562
    ส่วนบ้านที่โอนกรรมสิทธิ์ในปี 2559 จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับเงินได้ของปี 2559-2563 ซึ่งตอนที่ยื่นภาษีเพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนบ้านหลังแรกในรอบนี้จะกรอกเป็นค่าลดหย่อนในช่อง "เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์" ซึ่งต่างจากมาตรการบ้านหลังแรกที่ออกมาในช่วงปี 2554-2555 ที่ตอนยื่นภาษีจะกรอกในช่อง "ภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์"

15. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ  สามารถใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 60,000 บาท หากเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  ทั้งนี้ หากเป็นบุตรของผู้มีเงินได้ สามารถใช้สิทธิ์ควบคู่กับค่าลดหย่อนบุตรได้
- ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ
- ดาวน์โหลดหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ

16. ลดหย่อนจากเงินบริจาค  การบริจาคให้กับการกุศลต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น ไม่สามารถนำการบริจาคที่เป็นสิ่งของมาหักลดหย่อนได้ และหากต้องการลดหย่อนแบบคูณ 2 จะต้องเป็นการบริจาคเงินให้กับโรงเรียนรัฐ และโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือสมาคมกีฬาที่ได้รับการอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแล้วเท่านั้น เช่น บริจาคให้โรงเรียนหรือสมาคมกีฬา 15,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนได้เป็น 30,000 บาท (15,000 x 2 = 30,000)
     ทั้งนี้ การบริจาคที่จะนำมาใช้ลดหย่อนจะต้องมีใบเสร็จรับเงินบริจาค หรือใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐาน และหากมีการบริจาคร่วมกันหลายคน ให้เฉลี่ยเงินบริจาคออกเป็นเท่า ๆ กันตามสัดส่วน
- รายชื่อสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนเงินบริจาค
- รายชื่อหน่วยงานกีฬาที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาค
- รายชื่อมูลนิธิสมาคม สถานสาธารณกุศล วัดวาอาราม ที่ใช้สิทธิ์ขอหักลดหย่อนเงินบริจาค
- รายชื่อสถานสงเคราะห์ สถานพักฟื้นบำบัดและฟื้นฟูเด็ก คนชรา คนพิการ ที่สามารถลดหย่อนเงินบริจาคได้

17. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท จากทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันคือ
- ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์) อันเกิดจากการใช้บริการบริษัททัวร์ หรือบริษัทนำเที่ยว ที่จดทะเบียนกับสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ที่กรมสรรพากร
- ค่าบริการที่พัก จะต้องเป็นค่าที่พักกับโรงแรมที่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติโรงแรม เรียบร้อยแล้วเท่านั้น ดังนั้นค่าที่พักบางแห่งอาจจะไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ เช่น พักตามโฮมสเตย์ หรือบ้านพักต่าง ๆ แม้แต่บ้านพักตามอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรมตามกฎหมาย โดยการนำหลักฐานสำคัญ คือใบเสร็จหรือหลักฐานการรับเงิน ที่ระบุชื่อผู้ชำระเงิน จำนวนเงิน และวันเดือนปีที่ชัดเจนมาแสดง
ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ที่กรมสรรพากร

18. ลดหย่อนจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันสงกรานต์ เป็นมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเที่ยว-กิน-นอน ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 และค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวมแล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
- ค่าใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยว เช่น ค่าแพ็กเกจทัวร์ในประเทศ, ค่ามัคคุเทศก์นำเที่ยว
- ค่าที่พัก ต้องเป็นโรงแรมในประเทศ แต่ไม่รวมการทำสปา หรือเล่นกีฬาทางน้ำ
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารหรือโรงแรม แต่ไม่รวมการซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งจะต้องคำนวณตามขั้นภาษีของคุณด้วยค่ะ

19. ลดหย่อนจากการซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) เป็นมาตรการช้อปช่วยชุมชน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นของไทย (OTOP) โดยให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าโอทอป (OTOP) ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2559 สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท [อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม นักช้อปเฮอีก ! รัฐไฟเขียว ซื้อสินค้าโอทอป ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000]

20. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วงเดือนธันวาคม (เพิ่มเติม) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบให้สามารถนำค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในช่วงระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2559 มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งถ้ารวมกับมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวเดิม (ตามข้อ 17) ที่กำหนดวงเงินไว้ที่ 15,000 บาท จะทำให้ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือนธันวาคมนี้ จะได้รับการลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท
     ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น ต้องเป็นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และจ่ายให้ผู้ประกอบการนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ และค่าที่พักในโรงแรมให้ผู้ประกอบการโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม (ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าเช่ารถ ค่าเช่าเรือ ค่าเข้าชมการแสดง ค่าอาหารในโรงแรม ค่าซื้อสินค้า ไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้) นอกจากนี้ต้องเป็นการซื้อแพ็กเกจทัวร์หรือจ่ายค่าที่พักในเดือนธันวาคม 2559 เพื่อเข้าพักภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้น หากจ่ายเงินก่อน แล้วเดินทางหรือเข้าพักในปี 2560 จะถือว่าไม่เข้าข่าย

ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิ์ขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศได้ที่กรมสรรพากร

21. ลดหย่อนจากมาตรการช้อปช่วยชาติ 2559  เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสิ้นปี คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติมาตรการช้อปช่วยชาติแล้ว ให้นำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ ในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ
- ผู้ซื้อสินค้าและบริการเป็นบุคคลธรรมดา ไม่รวมคณะบุคคล
- มาตรการนี้ใช้ได้กับบุคคลธรรมดาที่เคยมีการจ่ายภาษีเดิมอยู่แล้วเท่านั้น
- ใช้สำหรับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2559 ที่จะยื่นแบบในต้นปี 2560
- ซื้อสินค้าและชำระค่าบริการ ระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559
- ซื้อสินค้าและบริการในประเทศ จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- สินค้าหรือบริการนั้นต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7%
- กรณีสินค้าหรือบริการได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนํามาหักลดหย่อนได้
- ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท (รวม VAT แล้ว)
- ได้รับเงินคืนตามฐานภาษีเงินได้ที่จ่ายให้กับกรมสรรพากร ไม่ได้คืนเท่ากับราคาสินค้าที่ซื้อ
- ต้องมีหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่ง ป.รัษฎากร คือ มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษี


     หลังจากทราบเงื่อนไขเเละหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีทั้งหมดแล้ว ผู้เสียภาษีทุกคนก็เตรียมสำรวจตัวเองได้เลยว่าเราเข้าหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษีข้อใดบ้าง ทำตามหลักเกณฑ์ใดได้บ้าง และอย่าลืมตรวจเช็กเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้สำหรับแนบไปให้ครบถ้วน เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ ลดภาระการจ่ายภาษี ของทุกคนกันด้วย สำหรับใครที่ต้องการดาวน์โหลดแบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อนภาษี สามารถเข้าไปดูได้ที่ กรมสรรพากร 

ที่มา : 21 ตัวช่วยประหยัดภาษีฉบับมนุษย์เงินเดือนต้องรู้

โดย :
 4660
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่ว่าจะหันไปทางไหน เราก็คงได้ยินคำว่า Marketing 4.0 อยู่บ่อยๆ แล้วเคยสงสัยไหมว่าจริงๆ แล้ว สิ่งนี้หมายถึงอะไร การตลาดออนไลน์เหรอ การขายของผ่านโซเชียลมีเดียหรือเปล่า วันนี้จะพามาทำความรู้จักกับ Marketing 4.0 แบบเข้าใจได้ไม่ยากกันค่ะ Marketing 4.0 จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ มีหลายคนให้คำจำกัดความของ Marketing 4.0 ไว้มากมายค่ะ แต่ถ้าให้พูดแบบเข้าใจง่ายๆ เลยก็คือ “การตลาดที่เอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคหรือลูกค้ามากยิ่งขึ้น” การขายของ หรือการทำการตลาดจะไม่หยุดแค่ที่หน้าร้านอีกต่อไป แต่มันจะก้าวมาสู่โลกออนไลน์ด้วย ดูเผินๆ อาจดูเหมือนการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอะไรก็ได้ที่เรียกว่าเทคโนโลยี แต่ความจริงแล้วเทคโนโลยีไม่ใช่หัวใจสำคัญของการตลาด 4.0 เพียงอย่างเดียวค่ะ แต่มันคือการตลาดที่มี “มนุษย์” เป็นจุดศูนย์กลางด้วย เพราะต้องอย่าลืมว่า เรากำลังใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงลูกค้าที่เป็น “มนุษย์” เรานี่เอง Marketing 4.0 และ Thailand 4.0 เกี่ยวข้องกันหรือไม่?
ปัจจุบัน Social Network (สังคมออนไลน์) มีอิทธิพลและได้รับความนิยมอย่างมากกับโลกออนไลน์ ซึ่ง Facebook เป็น Social Network ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดย Facebook เป็นแหล่งชุมชนของสังคมออนไลน์ เป็นเครื่องมือทำการตลาดที่ดี ต้นทุนต่ำ มีประสิทธิภาพสูง เและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายพร้อมทั้งขยายกลุ่มลูกค้าทั้งใหม่และเก่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว จะเห็นได้ว่าบริษัท ห้างร้านต่างๆ หันมาใช้การตลาดออนไลน์ผ่าน Facebook มากขึ้น

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์