โจทย์ใหญ่ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีไทย (SMES)ปัจจุบัน นอกจากต้องเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว พบว่าการปรับตัวของผู้ประกอบการ ต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัล ที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย นั่นเพราะไอเดียธุรกิจจะเป็นจักรกลสำคัญในการเสริมทัพธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ให้มีศักยภาพแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
เอสเอ็มอี SME ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมาก เพราะด้วยจำนวนกิจการที่อยู่ในระดับเอสเอ็มอีที่มีอยู่กว่า 2.78 ล้านราย โดยแบ่งเป็นเอสเอ็มอีในระบบ 1.9 ล้านราย และที่เหลือเป็นเอสเอ็มอีนอกระบบ ซึ่งทั้งหมดสามารถทำให้เกิดการจ้างงานได้ถึง 11.7 ล้านคนทีเดียว แต่เชื่อหรือไม่ว่าในจำนวนนี้กลับมีเพียงไม่ถึง 20% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ ถามว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีไทยไม่สามารถอยู่รอดและขับเคลื่อนตัวเองสู่การเติบโตต่อไปได้ ทั้ง ๆ ที่ผู้ประกอบการพันธุ์เล็กเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญ ในการขับเคลื่อนรายได้ให้กับประเทศไทยในยามนี้ ต้องยอมรับว่าหนึ่งในสาเหตุหลักนั้นมาจากการขาดแหล่งเงินทุนในการพัฒนาและขยับขยายกิจการ จึงส่งผลให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากิจการเอสเอ็มอีไทย ตกอยู่ในสภาวะของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ทว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากก็คือ การปรับตัวไม่เท่าทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่เทคโนโลยีกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดต้นทุนการผลิต มิหนำซ้ำยังเป็นช่องทางในการที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างไร้พรมแดน จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า พบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ไอซีที มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้อย่างเต็มที่โดยยังใช้วิธีการเดิม ๆ ในการทำธุรกิจ เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการใช้ประโยชน์แบบบูรณาการ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะไม่สามารถเติบโตได้ และอาจจะส่งผลให้ธุรกิจชะงักงันและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด จากจุดนี้เองจึงทำให้ทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติฯ เดินหน้ากลยุทธ์ในการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการจัดทำโครงการ “พัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการค้าแบบดิจิทัลสู่ภาคอุตสาหกรรม” (Business Transformation to Digital Economy) โดยร่วมกับ 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในภาคอุตสาหกรรม สามารถเรียนรู้ในการทำ E-Business ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันด้วยเทคโนโลยี หรือ E-Supply Chain ไม่ว่าจะเป็น
E-Catalog, E-Commerce, E-Inventory, E-Invoice รวมถึงระบบสินค้า Stock Online ที่จะช่วยสะท้อนถึงความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ตลอดจนการชำระเงินออนไลน์ หรือE-Payment ซึ่งจะก่อให้เกิด Market Place ในรูปแบบการแลกเปลี่ยน การซื้อ-การขายสินค้า หรือ Business-to-Business (B2B) อย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติฯ ยังได้มีการจัดทำโครงการ “ส่งเสริมการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางสินค้า” (Encouragement Project of Trusted Source of Product Information Data)