3 แนวคิดสู่การสร้างนวัตกรรมแบบ Google

3 แนวคิดสู่การสร้างนวัตกรรมแบบ Google

 

3 แนวคิดสู่การสร้างนวัตกรรมแบบ Google

 

 

       หากเราคิดถึงคำว่า "นวัตกรรม" สิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึงอาจจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฮเทคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฮบริด

ไอแพด มือถือสมาร์ทโฟน หรืออินเตอร์เน็ต สิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทส่วนใหญ่ปรารถนาที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในลักษณะการปฏิวัตินวัตกรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป ในความจริงแล้วนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นวิวัฒนาการที่ค่อยๆ พัฒนามาอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าการปฏิวัติเพียงแค่ครั้งเดียว ยิ่งเราผนวกรวมความคิดดีๆ เข้าไปที่ธุรกิจของเรามากเท่าใด “นวัตกรรม” ก็จะมีโอกาสเกิดมากขึ้นอีกเช่นกัน

 

       ในปี ค.ศ. 1999 Merhdad Baghai, Stephen Coley และ David White ได้แนะนำ Three Horizons Model to innovation in The Alchemy of Growth (แปลความหมายคร่าวๆ ได้ว่า 3 แบบแผนวิธีคิดในการสรรค์สร้างพัฒนานวัตกรรม) ด้วยประโยชน์ของ Three Horizons Model หรือกรอบการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรม บริษัททุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือใหญ่ จะสามารถเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมได้ทั่วทั้งองค์กร

 

       ซึ่ง Google บริษัทมหาชนอเมริกันที่เราทุกคนต่างคุ้นเคยกันดีได้นำโมเดลนี้ไปเป็นหนึ่งในหลักการสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในองค์กร ข่าวดีก็คือ เราสามารถทำตามแบบพิมพ์เขียวของ Google ได้ (Google"s blueprint) เราจะพบว่าบริษัทของเราอาจมีนวัตกรรมได้มากกว่าที่เราคิด และที่สำคัญคือสามารถจัดการทรัพยากรที่จะใช้สำหรับการเติบโตในอนาคตได้อีกด้วย

 

       ก่อนจะไปรู้จัก Google’s blueprint เราขอทำสรุปความเข้าใจสั้นๆ เกี่ยวกับ Three Horizons Model หรือกรอบการทำงานเพื่อพัฒนานวัตกรรมกันก่อน โดยกรอบการทำงานนี้จะเน้นไปที่การพัฒนาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยไม่ละเลยสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ประกอบด้วยสามส่วน ดังนี้

 

 

 

 

- ส่วนแรก แสดงถึงธุรกิจหลักที่ระบุได้อย่างง่ายดายและชัดเจนที่สุด ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัท ผู้ที่ให้ผลกำไรที่ใหญ่ที่สุด กระแสเงินสด ให้เราโฟกัสไปที่จุดหลักๆ พวกนี้และปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น

 

- ส่วนที่สอง สำหรับธุรกิจออฟไลน์ก็เปิดโอกาสตัวเองในโลกไซเบอร์ (ออนไลน์) นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสแล้วยังมีแนวโน้มที่จะสร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำในอนาคตได้อีก

 

- ส่วนที่สาม ริเริ่มความคิดสำหรับการเจริญเติบโตของผลกำไรในการลงทุนกับกิจการขนาดเล็ก เช่นโครงการวิจัย โครงการนำร่อง หรือกลุ่มคนกลุ่มเล็กในธุรกิจใหม่

 

       แล้ว Google นำหลัก Three Horizons Model มาปรับใช้อย่างไร?

 

ตลาดที่มีอยู่ เทคโนโลยีที่มีแล้ว

 

       นี่อาจจะเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอยู่บ้าง แต่ Google ใช้ 70% ของเวลาและทรัพยากรในการสร้างนวัตกรรมในกลุ่มตลาดเดิมที่ตนเองถือครองอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้วด้วยเหตุผลที่ดีคือเราสามารถใช้สิ่งนี้เป็นหลักสำคัญในการป้องกันตำแหน่งการค้าในตลาดการแข่งขันของเรา นวัตกรรมในส่วนนี้ช่วยให้เราอยู่ในตลาดการแข่งขันได้ และยังเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานไปในตัวอีกด้วย

 

       ในขณะที่การสร้างนวัตกรรมในตลาดเดิมโดยใช้เทคโนโลยีเดิมดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายที่สุดสำหรับการทดลองทำและนำมาใช้ แต่วิธีการนี้กลับถูกธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กละเลยเพราะอาจจะมองว่าการไปลงทุนสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับตลาดใหม่ดูจะมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า อย่างไรก็ดีถ้าหากได้ลองใช้เวลาในการสำรวจตลาดลูกค้าที่เราครอบครองอยู่แล้ว แล้วเริ่มต้นพัฒนาสิ่งต่างๆ จากผลิตภัณฑ์หรือความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ โอกาสที่จะล้มเหลวก็ย่อมต่ำกว่า และมีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากกว่าด้วย

 

มุมมอง SME

 

       สมมติว่าเราเป็นเจ้าของร้านขายขนมเค้กที่มีลูกค้าขาประจำแวะเวียนมาอุดหนุนอยู่ตลอดและมีแผนอยากทำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราจะเลือกทำอะไรดี? ถ้ามองแบบ google แล้ว แทนที่เราจะหัดทำไอศครีมหรือทำอาหารโดยที่เราไม่เคยทำและไม่มีความรู้ความเข้าใจมาก่อนเลย เราใช้ความชำนาญในการทำขนมเค้กที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาสูตรขนมเค้กใหม่น่าจะดีกว่า อาจจะลองสังเกตดูว่าตลาดในปัจจุบันมีความนิยมหรือให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง เช่นช่วงนี้คนอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น เราก็อาจจะพัฒนาสูตรขนมเค้กที่ดีต่อสุขภาพและยังคงรสชาติอร่อยด้วยโดยปรับเปลี่ยนสูตรนิดหน่อย จากที่ปกติเคยทำแค่เค้กนมสด เค้กชอคโกแลต เค้กสตอเบอร์รี่ เค้กเนย ก็ลองเปลี่ยนมาทำเค้กเผือก เค้กลูกพรุน เป็นต้น การปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยอาศัยพื้นฐานความรู้เดิมนี้สามารถทำให้เกิดสินค้าใหม่ที่อาจเกิดการเจาะตลาดใหม่ได้เลยด้วยซ้ำ การที่เราก็ทำเค้กเป็นอยู่แล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการทำเค้กย่อมมากกว่าการทำไอศครีมอย่างแน่นอน เมื่อเราทำเค้กแบบใหม่ออกมาแล้ว ลูกค้าประจำเราก็มีโอกาสที่จะอยากทดลองกินเค้กแบบใหม่ๆ มากกว่าเพราะเชื่อมือเราอยู่ก่อนแล้ว และนอกจากนี้ก็อาจจะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับลูกค้าประจำของเราเพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

ตลาดที่อยู่ติดกัน ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่

 

       ในส่วนนี้เราขยายขอบเขตของนวัตกรรมไปยังตลาดและเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่สามารถให้บริการหรือใช้งานในวันนี้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจในปัจจุบันของเรา ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่เรากำลังมองหาช่องทางใหม่ เพื่อผลักดันการเติบโตโดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ไปยังตลาดที่อยู่ติดกัน

 

       บริษัท Google เองก็ทำเช่นเดียวกัน บริษัทยอมให้พนักงานใช้เวลา 20% ในการคิดและทำงานของตัวเองในโครงการส่วนตัว เนื่องจาก Google เชื่อว่าพนักงานของเขาอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะคิดค้นกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการขยายการบริการหรือผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดที่อยู่ติดกัน

 

       ในทำนองเดียวกัน สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจของเราคือกลยุทธ์ในการจัดสรรทรัพยากรเวลา เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมรุ่นต่อไปขึ้นมาอีก

 

มุมมอง SME

 

       สำหรับธุรกิจขนาดเล็กจะสามารถขยายขอบเขตนวัตกรรมใหม่ในตลาดใกล้เคียงได้อย่างไรบ้าง? ถ้าลองมองง่ายๆ โดยอาศัยตัวอย่างจากข้อที่แล้ว การที่เราทำร้านเค้กอยู่แล้ว ตลาดข้างๆ ของเราคือใครกัน? อาจจะเป็นร้านขายเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ โกโก้ ซึ่งเป็นตลาดที่เราสามารถขายของไปพร้อมๆ กันและทำให้เกิดคุณค่าต่อลูกค้ามากขึ้นด้วย ดังนั้นถ้าเรามีเวลาเหลือเพียงพออาจจะลองศึกษาเรื่องการทำเครื่องดื่มเพิ่มเติมจนพัฒนากลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ้าเราสามารถขายเครื่องดื่มในร้านเค้กของเราด้วยลูกค้าในตลาดเดิมที่เคยซื้อเฉพาะเค้ก อาจจะซื้อเครื่องดื่มเพิ่ม หรืออาจจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่หาเครื่องดื่มรับประทาน แต่เข้ามาที่ร้านเราก็ได้ซื้อเค้กซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เดิมของเรากลับไปด้วย จะเห็นว่าการพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ในตลาดใกล้เคียงกับตลาดเดิมนอกเหนือจากจะเป็นการใช้ทักษะความสามารถเดิมที่มีอยู่แล้วมาต่อยอดเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ยังอาจทำให้เกิดการขยายตัวของตลาดและทำให้มูลค่าและคุณค่าของสิ่งที่เราขายเพิ่มขึ้นด้วย

 

 

 

 

ตลาดใหม่ เทคโนโลยีใหม่

 

       ธุรกิจส่วนใหญ่มักมองเห็นส่วนนี้เป็นส่วนแรกเมื่อพวกเขาต้องการคิดค้นนวัตกรรม แต่ภายใต้การทดลองทำหลายครั้งของ Google จากสามส่วนรวมที่กล่าวมาในข้างต้น Google พบว่าสูตรที่ให้ผลสำเร็จดีที่สุดคือส่วนผสมของการลงทุนในสองส่วนแรกเป็น 90% ของทรัพยากรที่ลงไปทั้งหมด สำหรับตลาดใหม่เทคโนโลยีใหม่กลับได้ทรัพยากรและการลงทุนเพียงแค่ 10% ของการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น เหตุผลหลักก็คือ ความพยายามและความยากลำบากในการระบุตลาดใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่แทนของเก่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะเปิดตลาดใหม่ หรือสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

 

       ในทางกลับกันเราอาจจะลองให้เวลาไปกับการสังเกตดูเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ เมื่อนานวันผ่านไปอาจจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจได้โดยที่เราไม่ต้องทุ่มทั้งเวลาและทรัพยากรไปกับการลงทุนที่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว

 

       การเจริญเติบโตถือว่าเป็นโฟกัสหลักของทุกธุรกิจ ทุกที่ ทุกขนาด ในหลายธุรกิจพยายามจะไปให้ถึงจุดนั้นโดยการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และด้วยโครงสร้างสามส่วนที่เราได้กล่าวไป จะช่วยให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ จุดหมายสูงสุดที่เราต้องการได้จากทรัพยากรที่เราลงทุนไปเพื่อการสร้างนวัตกรรมอย่างคุ้มค่าที่สุด

 

 

 

 

Credit : Incquity.com

โดย :
 5632
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

โลกการตลาดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมัยก่อนเราใช้การตลาดออฟไลน์ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ขายสินค้า บริการ ทำโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม สร้างรายได้ ขยายส่วนแบ่งทางการตลาด ปัจจุบันโลกเปลี่ยนออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการเริ่มต้นธุรกิจ แบบพลิกฝ่ามือ ถ้าวันนี้คุณต้องการสร้างรายได้ สร้างธุรกิจ คุณต้องคิดถึงการตลาดออนไลน์
ปัจจุบันการขายเสื้อผ้า เครื่องประดับ มือถือ ของขวัญ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันทั้งหลายนั้นไม่ได้มีอยู่แค่ในตลาดนัด ร้านค้า หรือห้างใหญ่ๆ แต่เราจะสามารถพบได้จากโฆษณา ตามเว็บไซต์
Facebook เปิดเผยสถิติน่าทึ่งเพื่อบอกให้โลกรู้ว่า โอกาสเติบโตของกลุ่มธุรกิจรายย่อยบน Facebook นั้นเป็นเรื่องจริงไม่อิงนิยาย โดยยืนยันว่าเพจในกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม หรือ SME มีการเปิดชมบน Facebook มากกว่า 645 ล้านครั้งต่อสัปดาห์

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์