ผลิตภัณฑ์ไม่ได้หมายถึงสิ่งของเสมอไป

ผลิตภัณฑ์ไม่ได้หมายถึงสิ่งของเสมอไป

 

 

 

       ในส่วนประสมทางการตลาด ผลิตภัณฑ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ถ้าไม่มีสินค้าแล้วก็คงไม่เกิดกระบวนการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้จัดจำหน่ายหรือผู้บริโภค หลายคนมองว่าผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าที่จับต้องได้ เช่น ไอพอด เสื้อผ้า พิซซ่า ที่จริงแล้วสินค้าที่จับต้องไม่ได้อย่างการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ เพลง MP3 จองที่พักออนไลน์ หรือไอเดียที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างการรณรงค์ “เมาไม่ขับ” เพื่อชักจูงให้ผู้บริโภคไม่ขับขี่ยวดยานพาหนะในขณะมึนเมา ล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเสนอให้กับตลาดเพื่อสร้างความสนใจ กระตุ้นให้เกิดความอยากเป็นเจ้าของ การซื้อเพื่อบริโภค โดยตอบสนองความต้องการและความจำเป็น

 

ขายคุณสมบัติหลักของสินค้า

 

       ก่อนผู้ผลิตสินค้าตัดสินใจจะนำเสนอสินค้าสู่ตลาดควรพิจารณาก่อนว่าสินค้านั้นมี Core product หรือไม่ Core product หรือ แก่นแท้ของผลิตภัณฑ์ คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือกำลังมองหาเพื่อตอบสนองความต้องการหรือช่วยแก้ปัญหาเมื่อซื้อสินค้าและบริการ ตัวอย่างเช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบอร์ดแบนด์ให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แต่มีลูกค้าบางรายต้องการการเชื่อมต่อแบบไร้สาย (WiFi) ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย ผู้ให้บริการจึงต้องเพิ่มบริการนี้ในบางแพ็คเกจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

 

 

 

 

ขายคุณค่าเสริมสินค้า

 

       Supplemental features หรือคุณสมบัติเสริมผลิตภัณฑ์ คือการมอบคุณค่าหรือคุณสมบัตินอกเหนือจากคุณประโยชน์หลักของสินค้า คุณสมบัติเสริมนี้ช่วยสร้างความแตกต่างของแบรนด์สินค้าจากคู่แข่งได้ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา ร่วมกับเชฟเปรมจิตต์ ประทีป ณ ถลาง จัดงาน “Secret Na Thalang Dinner” เพื่อสืบสานและถ่ายทอดต้นตำรับอาหารปักษ์ใต้กว่า 400 ปี ศิลปะในการปรุงอาหารต้นตำรับนี้เป็นมรดกตกทอดจากครอบครัว โดยมีเชฟเปรมจิตต์เป็นผู้สืบสาน และถ่ายทอดเมนูอาหารพื้นเมืองภูเก็ตมาเสิร์ฟแบบ VIP นอกจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะได้รับประสบการณ์ใหม่จากการเข้าร่วมดินเนอร์แบบ Exclusive แล้ว โรงแรมเองก็นำเสนอบริการที่แตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ อีกด้วย

 

ขายประสบการณ์ที่แตกต่าง

 

       การสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นการจัดหน้าร้าน เสียงหรือกลิ่นที่ลูกค้าสัมผัส พนักงานขายเอาใจใส่ลูกค้า มีสินค้าภายในร้านให้เลือกหลากหลาย ล้วนช่วยสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่ดีให้กับลูกค้า หรือแม้จะไม่มีหน้าร้านเป็นการขายสินค้าออนไลน์ก็สามารถสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งที่แตกต่างได้ด้วยเช่นกัน เช่น Build-A-Bear ร้านขายตุ๊กตาสัตว์ออนไลน์ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการผลิตตุ๊กตาที่ตัวเองชื่นชอบตั้งแต่การเลือกตัวตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ เลือกหัวใจ เสื้อผ้า ตั้งชื่อ และยังมอบสูติบัตรให้อีกด้วย

 

 

 

 

วิธีการซื้อก็สำคัญ

 

       นอกจากการแบ่งผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าจับต้องได้และจับต้องไม่ได้แล้ว ยังสามารถจำแนกลึกลงไปได้อีกโดยพิจารณาจากลักษณะนิสัยของผู้บริโภค Consumer products (ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค) เป็นสินค้าที่ซื้อมาเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนบุคคลหรือครอบครัวซึ่งจะมีตั้งแต่ Convenience products (ผลิตภัณฑ์สะดวกซื้อ) เป็นสินค้าที่มีราคาไม่แพง มีการซื้อใช้อยู่บ่อยๆ ลูกค้าใช้เวลาวางแผนการซื้อหรือเปรียบเทียบแบรนด์น้อย หาซื้อสินค้าตามร้านค้าที่อยู่ใกล้ หากไม่มีแบรนด์ที่ใช้อยู่เป็นประจำก็ซื้อแบรนด์อื่นแทนได้ Convenience products เช่น ขนมปัง น้ำดื่ม หมากฝรั่ง หนังสือพิมพ์

 

ซื้อเพราะใช้ประจำ

 

       Shopping products (ผลิตภัณฑ์เลือกซื้อ) เป็นสินค้าที่ลูกค้าใช้เวลาในการซื้อสินค้ามากกว่า Convenience products ลูกค้ามีการเปรียบเทียบแบรนด์สินค้า ราคา คุณสมบัติผลิตภัณฑ์ คุณภาพ บริการ การรับประกันสินค้า รวมทั้งร้านที่จะไปซื้อด้วย อย่างไรก็ตามลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์เลือกซื้อก็่ใช่ว่าจะจงรักภักดีต่อแบรนด์ เพราะถ้าจงรักภักดีต่อแบรนด์จริงก็คงไม่มาเสียเวลาเปรียบเทียบแบรนด์สินค้าต่างๆ ผลิตภัณฑ์เลือกซื้อ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยาน เฟอร์นิเจอร์ กล้องถ่ายรูป

 

ซื้อเพราะรัก

 

       ลูกค้าที่มีความจงรักภักดีต่อแบรนด์จริงๆ จะมุ่งไปที่ Special products (ผลิตภัณฑ์เจาะจงซื้อ) ไม่ว่าสินค้านั้นจะขายอยู่ที่ใด ไกลแค่ไหน ใช้ระยะเวลาในการรอสินค้านานเท่าใด ลูกค้ากลุ่มนี้ก็จะรอเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองชื่นชอบและไม่สนสินค้าทดแทนแบรนด์อื่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มสินค้าของ Apple และ Android ที่ต่างก็มีแฟนพันธุ์แท้ ฝั่งหนึ่งก็สาวกสตีฟ จ๊อบส์ อีกฝั่งหนึ่งก็สาวกกูเกิล แอนดรอยด์

 

ซื้อเพราะจำเป็น

 

       เหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในบางครั้งอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้สิ่งที่ในทางการตลาดเรียกว่าเป็น Unsought products (ผลิตภัณฑ์ไม่แสวงซื้อ) อย่างเรือ กลายเป็นที่ต้องการของผู้ประสบภัยน้ำท่วม Unsought products จะเป็นสินค้าที่ซื้อเมื่อเกิดปัญหาอย่างปัจจุบันทันด่วน สินค้าที่ลูกค้าจำเป็นต้องซื้อโดยไม่คาดคิดมาก่อน หรือไม่คิดว่าจะเป็นต้องซื้อ เช่น บริการซ่อมรถฉุกเฉิน บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน

 

       แท้จริงแล้วผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการโดยดูจากประโยชน์ใช้สอยและความพึงพอใจที่ผู้บริโภคคาดหวังจะได้รับ ดังนั้นผลิตภัณฑ์จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากกิจกรรมและกระบวนการต่างๆ เพื่อตอบสนองความคาดหวังนั้นๆ ผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ควรเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อนำผลของการเรียนรู้มาปรับปรุงหรือพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ขณะที่ผู้จำหน่ายก็ควรศึกษาคุณสมบัติสินค้าที่ขายเพื่อให้ข้อมูล กระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกอยากได้ และตัดสินใจซื้อเพื่อบริโภคในที่สุด

 

 

 

 

Credit : Incquity.com

โดย :
 9807
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ธุรกิจที่เข้ามาใหม่มักจะประสบกับปัญหากับการที่ต้องเป็นผู้ตามธุรกิจที่เริ่มทำก่อนเสมอ ส่งผลการสัดส่วนของส่วนแบ่งการตลาดได้ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับเจ้าตลาด แต่ข้อดีคือเราไม่ต้องกังวัลกับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ
เครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ที่ยังคงใช้งานได้ตลอดมาอย่าง Email Marketing ที่แม้จะเป็นกลยุทธ์การตลาดกว่า 30 ปีมาแล้วยังคงได้ผลอยู่เสมอ
ยักษ์ใหญ่เครือข่ายสังคม Facebook เปิดตัว 2 คุณสมบัติใหม่เพื่อให้นักการตลาดสามารถโฆษณาบนแอพพลิเคชั่น Facebook เวอร์ชันมือถือได้ดีกว่าเดิม

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์