เชื่อว่าทุกร้านค้าที่เปิดบริการส่งพัสดุแบบเก็บเงินปลายทาง ต้องเคยเจอประสบการณ์ส่ง COD แล้วลูกค้าไม่รับ พอเจอเยอะ ๆ เข้าก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้หลาย ๆ ร้านค้าตัดสินใจปิดบริการเก็บเงินปลายทาง แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราพอจะมีวิธีแก้ไขปัญหานี้ยังไงได้บ้าง มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย
เก็บเงินปลายทาง ไม่รับของได้ไหม?
หากอ่านรายละเอียดการให้บริการของ Marketplace บางราย จะพบว่าลูกค้าสามารถปฏิเสธไม่รับของได้ แต่อาจมีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่าหากปฏิเสธไม่รับของครบ X ครั้ง จะถูกระงับการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทางชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ เจอลูกค้าปฏิเสธไม่รับของครั้งแรกก็เกิดความเสียหายขึ้นแล้วทั้งภาระค่าจัดส่ง ค่าตีกลับ ไปจนการแบกรับความเสี่ยงที่สินค้าจะเกิดความเสียหายขณะขนส่ง ดังนั้นลูกค้าเอง หากไม่ได้มีความพร้อมในการรอรับสินค้าหรือชำระค่าสินค้าก็ไม่ควรสั่งสินค้า
เก็บเงินปลายทาง ลูกค้าไม่รับของ ทำไงดี?
สำหรับวิธีแก้ปัญหาเก็บปลายทางลูกค้าไม่รับของ พอจะมีเทคนิคในการรับมืออยู่บ้างดังนี้
อาจใช้วิธีการระบุเงื่อนไขการสั่งซื้อตั้งแต่ตอนตกลงซื้อขายให้ลูกค้าทราบแต่แรกว่าหากเลือกสั่งซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง จะต้องทำการชำระเงิน หากปฏิเสธจะถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 และ 458 ทันที
ในบางแพลตฟอร์ม Marketplace บางแห่งจะมีระบบให้คะแนนทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ ร้านค้าสามารถเข้าไปดูคะแนนของลูกค้าเบื้องต้นได้ว่าเครดิตการซื้อขายเป็นอย่างไรก่อนจะทำการตกลงซื้อขายสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง
เพื่อป้องกันการที่ลูกค้าอ้างว่าไม่รับของ เพราะไม่มีคนอยู่บ้าน ร้านค้าอาจทำการนัดแนะกับลูกค้าตั้งแต่ต้นว่าจะมีการจัดส่งสินค้าในวันไหน และคาดการณ์เวลาที่ลูกค้าจะได้รับสินค้า เพื่อเช็คว่าในวันดังกล่าวลูกค้าจะสะดวกรับสินค้าแบบเก็บเงินปลายทางด้วยตนเอง หรือเตรียมการให้ค้นอื่นรอรับของได้ทัน ก็จะช่วยลดโอกาสที่พัสดุจะถูกตีกลับไปได้พอสมควร
การที่ร้านค้าสามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างฉับไว ก็สามารถลดโอกาสที่สินค้าจะโดนปฏิเสธไปได้เช่นกัน เพราะหากขนส่งจัดส่งช้า ไม่ทันใจผู้ใช้งาน อาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจไปซื้ออีกเจ้าแทน และปฏิเสธที่จะรับสินค้าของเราได้
อีกเทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้กันในหมู่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คือการบวกกำไรเพิ่มเข้าไปในราคาขายสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง เพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มีลูกค้าบางรายปฏิเสธไม่รับของ ร้านค้าก็จะยังสามารถนำส่วนต่างกำไรจากพัสดุเก็บเงินปลายทางที่จัดส่งสำเร็จ มาช่วยหักลบกับพัสดุที่โดนตีกลับแบบเฉลี่ย ๆ กันไป
หากลองมาแล้วหลายวิธี เทคนิคสุดท้ายเพื่อจำกัดความเสียหายของธุรกิจ คือการเก็บประวัติลูกค้าและแบนลูกค้าที่เคยสั่งแล้วไม่ยอมรับของ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง หากเป็นร้านค้าใน Marketplace อย่าง Shopee และ Lazada หรือ Facebook Page จะมีฟีเจอร์บล็อคลูกค้าที่มีประวัติไม่ดีได้ แต่หากเป็นช่องทางการขายอื่น ๆ อาจต้องพึ่งระบบจัดการร้านค้าที่มีการจัดเก็บข้อมูลลูกค้า จะได้ตามเช็คได้ง่าย
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : zortout