เทคนิคการสร้างความสำเร็จของผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เทคนิคการสร้างความสำเร็จของผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

   

หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือ แนวคิดหรือแนวปฏิบัติที่สร้างหรือเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนัก ทว่าเพิ่มเติมและประยุกต์แนวคิดใหม่ ๆ องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พัฒนาต่อยอดไปสู่แนวทางที่สร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้ถูกจริตกับรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่งของผู้บริโภค สร้างโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจได้ไม่แพ้การแข่งขันด้านราคาดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

         ผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ เปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าและบริการ ต่อยอดไปสู่การจ้างงาน สร้างรายได้ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะเป็นผู้ประกอบการนักสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จนั้น นักคิดนักเขียนนาม John Howkins เจ้าของผลงาน The Creative Economy: How People Make Money From Ideas ได้นิยามคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ประกอบการไว้ 11 ประการ ดังนี้

          1. สร้างเอกลักษณ์ แสดงตัวตน ค้นหา ดึงความสามารถพิเศษ และศักยภาพเฉพาะตัวออกมาให้โลกเห็น สร้าง brand ให้ตัวเอง บริหารจัดการให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนกับสิ่งที่เป็น

          2. ให้ความสำคัญกับความคิดนอกเหนือจากข้อมูล ขยายขอบเขตจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิม ๆ เปิดใจและความคิดให้กว้าง ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา กล้าคิด กล้าทำ แทนที่จะมัวกังวลกับการสูญเสียเม็ดเงินไปกับการลงทุน จนสูญเสียโอกาสเติบโตทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย

          3. ไม่หยุดนิ่ง คนที่ไม่ชอบหยุดนิ่งกับสถานะเดิม ๆ จะสามารถเลือกแนวทางและเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง การไม่หยุดนิ่งไม่ได้หมายถึงการมุ่งหน้าไปโดยลำพังแบบไม่เอาใครเลย แต่ยังต้องสามารถก้าวเดินไปพร้อมกับทีมได้ ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องรวมเอาอุปนิสัย 2 อย่างไว้ในคน ๆ เดียวกันคือ “รักที่จะเข้าสังคม” กับ “ความสามารถในการอยู่แบบสันโดษ” เพราะการสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีความสามารถที่จะคิดเพียงลำพัง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

          4. กำหนดทิศทางบนความเป็นตัวของตัวเอง หยุดตีกรอบให้กับตัวเองด้วยงานที่ถูกมอบหมายโดยคนอื่น เพราะนักคิดคือคนที่พยายามขายทางออกสำหรับธุรกิจให้กับลูกค้า มองเห็นโอกาสล่วงหน้าได้ก่อนใคร ในระบบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุกคนสามารถคิดบนพื้นฐานของแต่ละปัจเจกบุคคล พร้อมแลกเปลี่ยนทางออกที่สร้างสรรค์ไปสู่ผู้อื่นได้

          5. เรียนรู้ต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุดที่มาของความรู้อาจได้มาจากการหยิบยืมไอเดียต่าง ๆ มาผสมผสาน หรือคิดค้นใหม่ขึ้นมาเอง บางครั้งความคิดใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อนำความคิดเก่า ๆ 2 ความคิดมารวมกัน ควรยอมรับความเสี่ยงและยอมทำในสิ่งที่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำเสียบ้าง เพราะการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็อาจนำมาซึ่งการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

          6. ใช้ประโยชน์จากชื่อเสียง ความโด่งดัง ความมีชื่อเสียงนั้นเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย นำมาซึ่งค่าตอบแทนทางอ้อมที่ไม่มีวันหมด ในรูปของความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้สูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยเติมความมีชีวิตชีวาและเติมไฟให้กับการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี

          7. ปฏิบัติต่อสิ่งเสมือนจริงให้เป็นจริง เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้คุณค่า และดึงประโยชน์จากเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจให้ก้าวสู่เป้าหมายของความสำเร็จให้จงได้

          8. พื้นฐานจิตใจที่ดี มีเมตตา เชื่อหรือไม่ว่าความเมตตากรุณาอาจเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ในรูปแบบที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” พื้นฐานจิตใจที่ดี นึกถึงผู้คนรอบข้างให้มากขึ้น ส่งต่อความรู้สึกและปฏิบัติที่ดีถึงผู้อื่น สามารถสร้างเครือข่าย สร้างความเชื่อมั่น สร้างผลตอบรับในเชิงบวก นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย

          9. ชื่นชมความสำเร็จอย่างเปิดเผย นักสร้างสรรค์ที่ดีต้องชื่นชมความสำเร็จของตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือจัดการกับความล้มเหลว เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกด้านลบที่เกิดจากความไม่สมหวังหรือพ่ายแพ้…แพ้ให้เป็น ล้มบ้างก็ได้ ท้อได้แต่ไม่ถอย ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน

          10. มีความทะเยอทะยานสูง ผู้ประกอบการต้องมีความรู้สึกต้องการอย่างแรงกล้าในการทำธุรกิจมีความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน หากไม่มีความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ก็จะไม่มีพลังผลักดันให้ผู้ประกอบการลุกขึ้นมาดำเนินการหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนบรรลุเป้าหมาย

          11. สนุกสนาน ร่าเริง หลักการง่าย ๆ ของความคิดสร้างสรรค์ คือ “การเล่น” การทำเรื่องเล่น ๆ เรื่องสนุกสนานให้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง หรือกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนปรารถนา ใช้ความสุขเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน สร้างสิ่งพิเศษได้อย่างไม่น่าเชื่อ สะท้อนสู่ผลงานที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ถึงประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจ

ขอบคุณแหล่งที่มา:   jobsDB.com

โดย :
 2435
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมต้องมีเว็บไซต์ ในยุคที่ Facebook กำลังครองเมือง ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าออนไลน์ทั่วไปหรือธุรกิจ SME ทุกคนต่างจะมุ่งเน้นไปที่ Facebook ก่อนอันดับแรก และละเลยที่จะต้องมีเว็บไซต์ อ้าวแล้วจะให้ทำเว็บไซต์ไปทำไม สู้เอาเงินไปโปรโมทเพจเฟสบุ๊คไม่ดีกว่าหรอ วันนี้จะบลอกว่าทำไมถึงต้องมีเว็บไซต์
ผู้ประกอบการเคยสงสัยบ้างไหมคะว่า ทำไมร้านค้าต้องมีชื่อร้าน ทำไมบริษัทหรือกิจการต้องมีชื่อ ทำไมคนทุกคนต้องมีชื่อทั้งชื่อเล่นและชื่อจริง แน่นอนเลยค่ะ

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์