Platform: ธุรกิจเรายั่งยืนเพราะคนต่อยอดเรา

Platform: ธุรกิจเรายั่งยืนเพราะคนต่อยอดเรา

 

 

สมมติว่าเราสร้างชานชาลารถไฟไว้แห่งหนึ่ง  ชานชาลาจะสามารถให้บริการรถไฟได้หลายขบวน และอาจหลากหลายได้ทั้งขนาดความยาวและรูปแบบ โดยเราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงดีไซน์ของตัวรถไฟมากนัก ขอแค่รถไฟชนิดเหล่านั้นใช้รางในรูปแบบเดียวกันก็พอ ก็จะสามารถทำงานร่วมกับชานชาลาของเราได้

 

       เมื่อเกิดการโดยสาร หลังจากนั้นธุรกิจที่แวดล้อมรถไฟเหล่านี้ตั้งแต่การขายของริมทางรถไฟไปจนถึงบริการหิ้วกระเป๋าก็จะค่อยๆ ถูกสร้างเข้ามา เกิดเป็นวงเศรษฐกิจข้างเคียงที่จะคอยช่วยให้ชานชาลาแห่งนั้นดูน่ามาเที่ยว คึกคักและไม่เคยร้างผู้คนมากขึ้น ชานชาลาที่ถูกนำมาเปรียบเปรยเหมือนสินค้าที่ให้คนมาทำธุรกิจแวดล้อมได้ นี้ก็เป็นคำเดียวกันกับในภาษาอังกฤษว่า Platform (แพลทฟอร์ม) นั่นเอง

 

       ยุคนี้แนวคิด Platform กำลังเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรม IT แต่ในธุรกิจสินค้าและบริการเองก็สามารถสร้างให้เกิดการต่อยอดหรือแตกแขนงธุรกิจในลักษณะเดียวกันได้เหมือนกัน เราจะเริ่มคิดได้อย่างไร? และจะพัฒนาธุรกิจของเราเป็น Platform ได้อย่างไร เรามีคำแนะนำเบื้องต้นให้ดังนี้

 

Platform แนวคิดที่แข็งแรงในธุรกิจซอฟท์แวร์

 

       ถ้าเราซึ่งไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้เลยไปถามคนที่มีความรู้ทางด้าน IT หน่อยเขาคงอธิบายให้เราฟังว่า Platform หมายถึงสินค้าหลักตัวหนึ่ง (จับต้องได้หรือไม่ก็ได้) ที่ให้มีคนสามารถสร้างสิ่งอื่นๆ ประกอบเข้ากับตัวระบบหลักได้ และทำให้เกิดสินค้าที่แม้หน้าตาหลักจะคล้ายเดิมแต่กลับมีความสามารถใหม่ๆ ขึ้นมาได้ ตั้งแต่หน้าตาสวยขึ้นใช้ง่ายขึ้น ไปจนถึงระบบเก่งขึ้นหรือฉลาดขึ้น

 

       หากมองตามแนวคิดนี้ OS อย่าง Microsoft Windows ก็จัดเป็นสินค้าหลักที่มีความเป็น Platform อยู่ในตัว กล่าวคือมีคนเขียนซอฟท์แวร์อื่นๆ มาประกอบเพื่อขยายความสามารถได้

 

       Platform นั้นมีประโยชน์อย่างไร? ทุกวันนี้มีหลายผลิตภัณฑ์ที่เติบโตได้อย่างสวยงามและหยั่งรากลงในตลาดอย่างแข็งแรงเพราะการสนับสนุนที่มาจากคนเหล่านั้นที่เขียนสิ่งต่างๆ เข้ามาประกอบกับ Platform หลัก เริ่มจากเป็นรายได้ให้กับผู้ผลิตส่วนประกอบเหล่านั้น และยอดผู้ใช้ก็จะกลายมาเป็นรายได้ให้กับผู้ผลิต Platform ในเวลาต่อมา ตัวอย่างเหล่านี้ก็เช่น Wordpress ที่เป็นเพียงซอฟท์แวร์สำหรับทำบล็อกบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่เพราะความง่ายในการเขียน

Extensions (ส่วนขยาย) ผู้คนมากมายที่ต่อยอดออกไปจากแพลทฟอร์ม Content Management System (CMS) นี้สามารถนำไปสร้างรายได้จนถึงขั้นประกอบอาชีพได้ ก่อเกิดเป็นรายได้มหาศาลและสร้างความนิยมให้กับตัว CMS เองไปด้วยในตัว

 

Platform ในธุรกิจขายสินค้าจริงๆ มีหรือเปล่า?

 

       เมื่อมองกลับมาในโลกของธุรกิจในความเป็นจริงที่มีสินค้าเป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ จริงๆ แล้วเราสามารถหาธุรกิจที่เทียบเคียงกับแนวคิดนี้ได้ไม่ยากเลย  หากเราจะประยุกต์แนวทางนี้มามองดูสินค้าในตลาด Platform คงหมายถึงการที่สินค้าตัวหนึ่งที่ขณะนี้มีคนใช้มากพอสมควรในตลาด และจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม สินค้านั้นถูกค้นพบว่าสามารถต่อยอดหรือสร้างส่วนเสริมออกไปได้อีกในมุมต่างๆ เพื่อสร้างความพอใจให้กับเจ้าของที่ซื้อสินค้าหลักนั้นเพิ่มขึ้นได้ จนเกิดเป็นวงจรธุรกิจข้างเคียงขึ้นมา

 

       หากลองสังเกตดูว่ารอบๆ ตัวของเรามีอะไรบ้างที่เข้าลักษณะนี้บ้าง จะเห็นว่าแนวคิด Platform นี้มีอยู่ในสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกประเภทอย่างน่าสนใจ ทุกวันนี้ปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็น Platform อยู่มากมาย ตั้งแต่สินค้าง่ายๆ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ส่วนประกอบต้องมีการออกแบบซับซ้อน

 

ของใช้คู่ตัว

 

       หลายครั้งสภาพความเป็น Platform นั้นเกิดขึ้นตามจำนวนผู้ใช้ที่เมื่อมีมากพอ คนอื่นๆ จะเริ่มหาทางทำกำไรจากสิ่งเหล่านั้นได้เอง

 

       อย่างโทรศัพท์มือถือ ที่ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจเคสหรือซองใส่สมาร์ทโฟนหรือโทรศัพท์ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่จำเป็นผู้ผลิตตัวเครื่องเอง แต่กลับกลายเป็นว่ามีแรงซื้อมหาศาลรอคอยอยู่ และด้วยไอเดียสร้างสรรค์ของผู้ผลิตซึ่งไม่ได้มีเพียงรายเดียว ก็ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างกันขึ้นเองโดยปริยาย ส่งผลดีเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ที่แตกแขนงออกไปได้ไม่รู้จบ เจ้าตัวโทรศัพท์หรือสมาร์ทโฟนนี่เองที่เราเรียกได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็น Platform

 

ธุรกิจประดับยนต์

ธุรกิจประดับยนต์และตกแต่งรถยนต์เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากแนวคิด Platform มาเป็นเวลานานแล้วโดยมีรถยนต์เป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งชิ้นส่วนที่สามารถทำรายได้นั้นนอกจากชิ้นส่วนมาตรฐานต่างๆ เช่น กันชนหน้า-หลัง

สเกิร์ต สปอยเลอร์ ล้อแม็กซ์ ไฟหน้า ไฟท้าย ฯลฯ แล้วปัจจุบันยังเกิดชิ้นส่วนเพิ่มเติมอย่าง ไฟนีออนใต้ท้องรถ ครีบฉลาม หรือส่วนประกอบสวยๆ ใหม่ๆ ที่เกิดจากไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากมายอีกด้วย

 

       มอเตอร์ไซค์และรถรุ่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่กลายเป็น Platform นั้นมีให้ต่อยอดให้เกิดธุรกิจอุปกรณ์ประดับยนต์มากมาย เช่น Vespa ที่เป็นทั้งเครื่องหมายของความเก๋ไก๋ไปจนถึงความหรูหรา รถ Volkswagen, Mini ที่กลายเป็นไอค่อนของแต่ละยุคสมัย มาจนถึง Yamaha Fino ที่กลายเป็นเหมือน Vespa ของศตวรรษที่ 21 ไปแล้วด้วยแนวคิดที่คล้ายกัน ซึ่งหากเรามองจากมุมนี้จะเห็นเลยว่า มุมมองการออกแบบสินค้าเพื่อให้เป็น Platform ในปัจจุบันนั้นไม่ได้มุ่งเน้นเพียงทำให้เกิดรายได้ในการขายตัวสินค้าหลักเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงคุณค่าของวงเศรษฐกิจของผู้ประกอบการที่ทำส่วนประกอบสินค้าเหล่านี้ อย่างในกรณีนี้คือ ธุรกิจการปรับแต่งให้สวยตามสไตล์ของผู้ใช้แต่ละคนนั้นเข้าไปด้วย

 

ของเล่น

บาง Platform นั้นมีช่องทางให้เราเกาะตัวสินค้าหลักได้ก็จริง แต่ก็จำเป็นต้องมีความถนัดเฉพาะด้าน ซึ่งสำหรับหมวดของเล่นในที่นี้เราอาจไม่ได้พูดถึงสินค้าที่เป็น Platform Toy โดยตรง เพราะสินค้าเหล่านั้นเปิดโอกาสให้เราประยุกต์ตัวเองเพื่อสร้างธุรกิจได้อยู่แล้ว เราจะไปมองหาสินค้าที่มีกระจายอยู่มากๆ ในมือของลูกค้าในตลาดเรียบร้อยแล้วมากกว่าแทน

 

       ธุรกิจตัดเสื้อผ้าให้ตุ๊กตา Blythe เองก็มีส่วนทำให้ตุ๊กตาแบรนด์นี้มีความเป็น Platform ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน และแม้การตัดเสื้อผ้าเพื่อตุ๊กตาเหล่านี้แม้จะต้องคำนึงถึงรุ่นและขนาดจะแตกต่างกันไปอยู่บ้าง แต่โดยรวมเทคนิคการตัดเย็บและการวางแพทเทิร์นนั้นสามารถใช้ความรู้ของช่างเย็บเสื้อผ้าชุดเดิมได้เลย การต่อยอดธุรกิจหรือปรับเปลี่ยนประเภทสินค้ามาจับกลุ่มนี้ตามแฟชั่นจึงเป็นอีกเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก และด้วยต้นทุนที่ทำได้ตั้งแต่ไม่สูงมากไปจนถึงต้องลงทุนเป็นกิจจะลักษณะ ทำให้เกิดอาชีพรับตัดชุดตุ๊กตาขึ้นมา

 

ผลักสินค้าของเราให้เป็น Platform บ้างได้ไหม?

 

       สังเกตจากสินค้าต่างๆ ที่เราลองยกตัวอย่างมาข้างต้น จะเห็นว่าองค์ประกอบของ Platform นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งการจะคิดสินค้าขึ้นมาสักอย่างให้เข้าลักษณะความเป็น Platform นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริง แต่หากเราจะพยายามหาทางสร้างสินค้าที่เรามีอยู่แล้วให้กลายเป็น Platform บ้างล่ะ จะได้ไหม?

 

ตุนลูกค้าไว้ในมือลูกค้าแล้วเป็นจำนวนมาก...

 

       ไม่ว่าจะแจกฟรี ขายขาดทุน(ค่าแรง) หรือจะขายแบบเท่าทุน การกระจายสินค้าให้ไปอยู่ในตลาดให้มากที่สุดก่อน นั่นเป็นเป้าหมายที่สินค้าที่ทำตัวเป็น Platform ทุกๆ ตัวทำเหมือนกัน เพราะจุดคุ้มทุนของโปรเจคท์ในลักษณะนี้มักไม่ได้วัดกันที่กำไรที่เกิดจากยอดขายสินค้าหลักนี้ แต่เป็นยอดที่เกิดจากการ “บริโภคส่วนประกอบ” ที่ยึดติด ประกอบ หรือเสริมแต่ง Platform นั้นของลูกค้าแต่ละคน

 

       iPad, Amazon Kindle เริ่มด้วยวิธีเดียวกันคือการขายผลิตภัณฑ์ที่เป็น Platform ในราคาที่เหมาะสมที่สุดทั้งสำหรับแบรนด์ที่จะขายและสำหรับลูกค้าเมื่อจะช้อป แต่ผลกำไรที่เกิดจากการให้ผู้สร้างซอฟต์แวร์เสริมต่อยอดออกจากตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งเกม โปรแกรมใช้งาน หนังและเพลงนั้น ทำรายได้มหาศาลให้ในเวลาต่อมา (ซึ่งนั่นเกิดจากการคิดระบบเบ็ดเสร็จตั้งแต่แรกแล้วว่าจะต้องตระเตรียมทั้งสินค้าหลัก ลูกค้า ระบบการซื้อขายสินค้าที่ออกแบบให้ไหลผ่านบริษัทแม่ และคู่ค้านั้นจำเป็นต้องมีหลักปฏิบัติอย่างไรบ้าง

 

       ในมุมของเราถ้าจะมองว่าการขายแก้วกาแฟที่ทำให้เกิดการย้อนกลับมาซื้อ “ด้วยแก้วเก่า แล้วลดราคาให้” นั้นก็อาจเข้าหลักเดียวกัน หากตัวแก้วเองสามารถตกแต่งให้เป็นแบบของลูกค้าได้ด้วย หรือเกิดบริการเสริมอย่างการติดรูปของลูกค้าเข้าไป ทั้งคนทำรูป คนทำของตกแต่งสินค้า และคนทำตัวแก้วสินค้าเองก็จะได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญไปกว่านั้นจำนวนแก้วที่ลูกค้าบริโภคต่อวันก็น่าจะเพิ่มขึ้นเพราะราคาที่ถูกลงด้วย

 

...แล้วเปิดโอกาสให้สร้างสรรค์

 

       ถ้าเราเป็นสินค้าใหม่ที่ผู้ใช้ไม่เคยเห็น เราอาจต้องแนะนำตัวให้ตลาดรู้ว่าคนสามารถสร้างประโยชน์จากเราได้ในลักษณะใดบ้าง

 

       หากเราย้อนดูคีย์โน้ตของแอปเปิ้ลสมัยที่ออก iPad2 มาใหม่ๆ ไม่มีใครรู้ว่าด้านข้างของ iPad2 นั้นจะมีแม่เหล็กสร้างอยู่ทั้งสองฝั่งเพื่อประโยชน์ในการยึดเกาะและทำฝาปิดด้านหน้า (Smart Cover) มีทางใดบ้างที่จะทำให้บรรดานักผลิต Accessories รู้สิ่งที่เราเตรียมไว้ ถ้าไม่ใช่การที่ Apple ทำต้นแบบให้ตลาดได้รู้จักกับความสามารถเหล่านี้ นั่นคือสาเหตุที่เราเห็น Apple ต้องลงทุนทำ Smart Cover ลงมาในตลาดด้วยตัวเองก่อน ซึ่งหากเรามองดูดีๆ แอปเปิ้ลไม่เคยต้องลงทุนทำ Accessories เองให้กับ iPhone มาก่อน ดังนั้น การแนะนำความสามารถที่เตรียมไว้ให้เหล่านี้จึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น และผลตอบรับที่ได้ก็คือ ตลาดผู้ผลิตฝาปิดจอและเคสของ iPad นั้นทำสินค้าออกมาหนุนตลาดได้ง่ายและเร็วขึ้น มีความสุขด้วยกันทั้งผู้ผลิตและเจ้าของ iPad ที่ก็รู้สึกว่าต้องการสิ่งที่สวยกว่า Smart Cover ต้นแบบไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

       หากเราตั้งใจจะคิดสินค้าใหม่หรือเปลี่ยนสินค้าของเราให้เป็น Platform นั้น ณ จุดเริ่มต้นเรามักต้องเริ่มจากการสังเกตระหว่างขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่หลายครั้งความเป็น Platform นั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตั้งใจ ทั้งนี้อยู่ที่ตัวเราว่าจะให้ความสำคัญกับรายละเอียดเหล่านี้ และในที่สุดเราจะนำมาสร้างเป็นจุดเด่นที่ไม่มีแบรนด์ข้างเคียงจะสามารถมาลอกเลียนแบบได้หรือไม่หรือเปล่าเท่านั้นเอง

 

 

 

 

Credit : INCquity

โดย :
 8917
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การใช้วิธีการเล่าเรื่องเพื่อสื่อสารข้อความ มีจุดมุ่งหมายคือการทำให้ผู้ดูรู้สึกบางอย่าง และความรู้สึกที่แบรนด์ส่งไปนั่นเพียงพอที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาในการตัดสินใจซื้อสินค้า บริการ ซึ่งวิธีการเล่าเรื่องในมุมการตลาดช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาจึงควรสนใจในแบรนด์ของคุณ และมันใช้ได้ผลเพื่อทำให้แบรนด์ของคุณมีความรู้สึก
Google เป็น Search Engine อันดับ 1 ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก เพราะ Google ถือเป็น Search Engine ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นใคร วัยไหนๆ ก็ต้องใช้ Google ในการหาข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ข้อมูลทั่วไป ความรู้ ตลอดจนสินค้าและบริการต่างๆ การ โฆษณาผ่าน Google จึงตอบโจทย์ในแง่ของการที่เป็นตลาดใหญ่ และมีผู้ใช้จำนวนมากนั่นเอง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันนี้เราต่างก็ใช้งาน Facebook กันอยู่อย่างมากมาย แต่ไม่ควรใช้ Facebook แทน Website เพราะมีปัญหาในการแสดงผล หาสิ่งที่ต้องการได้ยาก

Feature SoGoodWeb

SoGoodWeb มีระบบรับชำระเงินแบบใหม่ผ่าน Pay Solution รองรับทุกธนาคารชั้นนำ ทำให้การจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องง่าย ช่วยให้ลูกค้าจ่ายเงินออนไลน์ได้อย่างสะดวก
LINE Notify คือ บริการที่คุณสามารถได้รับข้อความแจ้งเตือนจากเว็บเซอร์วิสต่างๆ ที่คุณสนใจได้ทาง LINE โดยหลังเสร็จสิ้นการเชื่อมต่อกับทางเว็บเซอร์วิสแล้ว คุณจะได้รับการแจ้งเตือนจากบัญชีทางการของ “LINE Notify” ซึ่งให้บริการโดย LINE นั่นเอง
เหมาะสำหรับลูกค้าที่เปิดธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ทั้งที่เป็นเจ้าของเอง หรือเป็นรายย่อย เป็นระบบจองทัวร์ ที่ช่วยทำให้การจัดการธุรกิจทัวร์ - ทัวร์ท่องเที่ยว ให้เป็นเรื่องง่าย
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์