ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บริษัท TARAD.com กล่าวว่า ในยุคนี้บรรดาแบรนด์ต่างๆ เริ่มปรับแนวคิดการสื่อสารหันมาใช้เครื่องมือโซเชียล มีเดีย มากขึ้น โดยเฉพาะ "บุคคล" ที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ นับเป็นอีกเครื่องมือในการแพร่กระจายข้อมูล ที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าการโฆษณาผ่านสื่อเก่า อีกทั้งมีค่าใช้จ่าย "ไม่สูง" เมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ"การเห็นโฆษณาบนทีวี กับการเห็นเพื่อนใช้สินค้า ความเชื่อและศรัทธาในตัวสินค้านั้นๆ จะแตกต่างกัน"
ฉะนั้นในโลกการสื่อสารและโฆษณาในปัจจุบัน จะทำอย่างไรให้คนในสังคมพูดถึงสินค้าและบริการ และนำบอกต่อ เพราะ 68% ของผู้บริโภคในยุคนี้ "ไม่เชื่อ" การโฆษณาสินค้าผ่านสื่ออีกต่อไป ขณะที่ 78% "เชื่อ" ในสิ่งที่คนพูดถึงสินค้าและแบรนด์ต่างๆ
แม้โซเชียล มีเดีย ไม่ใช่เครื่องมือที่ทำให้เกิดการซื้อขายโดยตรง แต่ทำให้เกิด "การรับรู้" ต่อแบรนด์ ส่งผลให้คนรู้จักสินค้าและบริการมากขึ้น เมื่อรู้จักแบรนด์ก็จะเกิดการซื้อขายตามมา นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ (Engagement)
ระหว่างแบรนด์กับลูกค้าอีกด้วย
เมื่อโซเชียล มีเดีย ก้าวมาสู่บทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อถือให้กับแบรนด์ จึงเป็นโอกาสที่สื่อดังกล่าวสามารถใช้ใน
การสร้าง "รายได้" โดยเริ่มจากการใช้เป็นเครื่องมือในการโปรโมท การเปิดเว็บไซต์เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งการสร้างรายได้จากโฆษณาบนโซเชียล มีเดียเอง
สำหรับรูปแบบการโปรโมทและทำให้คนรู้จักสินค้าบนโซเชียล มีเดีย เช่น ร้านเสื้อที่บราซิล ได้ใช้ไม้แขวนเสื้อที่ใช้โชว์เสื้อผ้าภายในร้าน โดยติดอุปกรณ์สื่อสารที่ให้ลูกค้าสามารถกด Like เพื่อแสดงข้อมูลจากลูกค้าว่ามีคนชอบเสื้อแบบไหนมากที่สุด โดยจำนวน Like จะแสดงอยู่บนไม้แขวนเสื้อเอง เพื่อเป็นอีกตัวช่วยให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อ โดยดูจากจำนวน like ที่มีคนกดมากที่สุด
รูปแบบการขายสินค้าผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ค จะต้องทำให้เกิดการ "พูดถึงและบอกต่อ" เพราะเป็นสื่อโซเชียล มีคุณสมบัติในการ "พูดซ้ำ พูดบ่อย และพูดได้เร็ว" โดยเริ่มการใช้โซเชียล มีเดียในการให้ข้อมูล เมื่อมีการบอกต่อและพูดซ้ำ ผู้บริโภคก็จะเริ่มค้นหาข้อมูล จากการอ่านบล็อกรีวิว ซึ่งบรรดาแบรนด์ต่างๆ สามารถใส่เว็บลิงก์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลไปยังเว็บไซต์ของแบรนด์ได้ ทำให้เกิดอีคอมเมิร์ซ หรือการใช้ทวิตเตอร์ ทวีตข้อความ เชื่อมต่อเว็บลิงก์ เว็บรีวิว ที่ช่วยกระตุ้นความสนใจและสั่งซื้อไปยังระบบอีคอมเมิร์ซได้เช่นกัน
การนำโซเชียล มีเดีย ไปผสมผสานเพื่อเชื่อมโยงเข้ากับเว็บไซต์ของสินค้า นับเป็นอีกโอกาสในการสร้างให้ผู้บริโภคได้แชร์ข้อมูลข่าวสารของแบรนด์ บนหน้าโปรไฟล์ของผู้สนใจ ซึ่งเป็นอีกช่องทางการบอกต่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ
"ข้อความธรรมดาๆ แต่เมื่อถูกผูกความสัมพันธ์ ระหว่างเพื่อนเข้าไปด้วย ข้อความนั้นจะถูกเปลี่ยนสถานะ และสร้าง
ความน่าสนใจในกลุ่มสังคมออนไลน์ขึ้นมาทันที โซเชียล มีเดีย จึงถือเป็นเครื่องมือที่มาเติมเต็มความน่าสนใจของข้อมูลในกลุ่มเพื่อนๆ"
สำหรับรูปแบบการโฆษณาบนโซเชียล เน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊ค นับเป็นอีกเครื่องมือที่บรรดาแบรนด์ต่างๆ ให้ความสนใจ
เช่นกัน เพราะเฟซบุ๊ค จะเป็นเครื่องมือเลือกโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย จากการกรอกข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน จึงเป็นโฆษณาที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของบุคคลนั้นๆ โดยสามารถเลือกกลุ่มเป้าหมาย เพศวัย เมือง และประเทศแบบเฉพาะเจาะจง
ตามความต้องการของผู้ลงโฆษณา พร้อมทั้งสามารถปรับข้อความโฆษณาได้หลายเวอร์ชันให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ด้วยข้อความที่
แตกต่างและมุ่งสื่อสารเฉพาะกลุ่ม จะทำให้ได้ผลมากกว่าการโฆษณาทางสื่อแมส ที่มีการสื่อสารผ่านข้อความเดียวและว่านไปในทุกกลุ่ม
แม้ว่าโซเชียล มีเดีย ไม่ได้ทำให้เกิดยอดขายทันที แต่นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นทำให้เกิดกิจกรรมและความสนใจ และเกิดการซื้อขายในช่องทางอีคอมเมิร์ซในที่สุด ปัจจุบันเว็บไซต์ตลาดดอทคอมเอง มีสัดส่วนยอดขาย 14% จากโซเชียล มีเดีย
ทั้งเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์
"โซเชียล มีเดีย ในยุคที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ทำให้เกิดยอดขายได้จริงแล้ว และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง"
ภาวุธ กล่าวอีกว่าในช่วงที่โซเชียล มีเดีย กำลังได้รับความสนใจและมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นโฆษณาที่ได้รับความน่าเชื่อถือจากคนทั่วไป การโฆษณาผ่านบุคคลที่มีอิทธิพล (Influencer) ในโซเชียล มีเดีย กำลังได้รับความสนใจจากบรรดาแบรนด์ต่างๆ ในขณะนี้ ในต่างประเทศบุคคลที่มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ หรือมีแฟนเพจจำนวนมาก แบรนด์ต่างๆ มีการจ่ายค่าทวีตหรือโพสต์ข้อความโปรโมทแบรนด์ครั้งละ 3 แสนบาท
ขณะที่รูปแบบการสื่อสารดังกล่าวในโซเชียล มีเดีย กำลังได้รับความสนใจในไทยเช่นกัน โดยค่าจ้างจะอยู่ที่ทวีตหรือโพสต์ละ 3-4 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นสื่อใหม่ของบรรดาเซเลบ ออนไลน์ไทยในการใช้เป็นช่องทางหารายได้ผ่านโซเชียล มีเดีย ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม ยังเป็นการสร้างมูลค่า "สื่อส่วนบุคคล" ในยุคนี้
เช่นกรณีแคมเปญแนะนำแฮมเบอร์เกอร์ รสชาติใหม่ ที่วางกลยุทธ์การสื่อสารแบบ IMC รวมทั้งการใช้สื่อออนไลน์ อินสตาแกรม โดยให้บรรดาเซเลบ ออนไลน์ ที่มีรูปร่างดี โพสต์รูปการรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งสามารถใช้เป็นโฆษณากระตุ้นให้ผู้ติดตามในโซเชียล มีเดียสนใจในตัวสินค้าได้เช่นกัน เพราะ "โซเชียล มีเดีย เป็นสื่อสำคัญในกระตุ้นความสนใจ เพื่อทำให้เกิดการซื้อสินค้าทางอ้อม"
ปัจจุบัน "โซเชียล มีเดีย" เป็นตลาดออนไลน์ ที่มีอิทธิพลในการเข้าถึงประชากรทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคน การทำกิจกรรมและการตลาดที่ตอบโจทย์ ตรงกลุ่มเป้าหมายผสานการใช้เครื่องมือการกระตุ้นความสนใจ ผ่านการสื่อสารแบบอินเตอร์แอ็คทีฟ เพื่อทำให้เกิดการถึงในวงกว้าง พร้อมทั้งดึงคนเข้ามาร่วมกิจกรรมได้จำนวนมากด้วยต้นทุนไม่สูง จึงทำให้ "โซเชียล มีเดีย" เป็นสื่อที่สร้างการรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างยอดขายไปพร้อมกัน
Credit : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์