หัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ก็คือ แนวคิดหรือแนวปฏิบัติที่สร้างหรือเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรมากนัก ทว่าเพิ่มเติมและประยุกต์แนวคิดใหม่ ๆ องค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม พัฒนาต่อยอดไปสู่แนวทางที่สร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้ถูกจริตกับรสนิยมที่เปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่งของผู้บริโภค สร้างโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจได้ไม่แพ้การแข่งขันด้านราคาดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ผู้ประกอบการในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ เปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าและบริการ ต่อยอดไปสู่การจ้างงาน สร้างรายได้ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจะเป็นผู้ประกอบการนักสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จนั้น นักคิดนักเขียนนาม John Howkins เจ้าของผลงาน The Creative Economy: How People Make Money From Ideas ได้นิยามคุณสมบัติพื้นฐานของผู้ประกอบการไว้ 11 ประการ ดังนี้
1. สร้างเอกลักษณ์ แสดงตัวตน ค้นหา ดึงความสามารถพิเศษ และศักยภาพเฉพาะตัวออกมาให้โลกเห็น สร้าง brand ให้ตัวเอง บริหารจัดการให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนกับสิ่งที่เป็น
2. ให้ความสำคัญกับความคิดนอกเหนือจากข้อมูล ขยายขอบเขตจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเดิม ๆ เปิดใจและความคิดให้กว้าง ศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา กล้าคิด กล้าทำ แทนที่จะมัวกังวลกับการสูญเสียเม็ดเงินไปกับการลงทุน จนสูญเสียโอกาสเติบโตทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย
3. ไม่หยุดนิ่ง คนที่ไม่ชอบหยุดนิ่งกับสถานะเดิม ๆ จะสามารถเลือกแนวทางและเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง การไม่หยุดนิ่งไม่ได้หมายถึงการมุ่งหน้าไปโดยลำพังแบบไม่เอาใครเลย แต่ยังต้องสามารถก้าวเดินไปพร้อมกับทีมได้ ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องรวมเอาอุปนิสัย 2 อย่างไว้ในคน ๆ เดียวกันคือ “รักที่จะเข้าสังคม” กับ “ความสามารถในการอยู่แบบสันโดษ” เพราะการสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีความสามารถที่จะคิดเพียงลำพัง แต่ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
4. กำหนดทิศทางบนความเป็นตัวของตัวเอง หยุดตีกรอบให้กับตัวเองด้วยงานที่ถูกมอบหมายโดยคนอื่น เพราะนักคิดคือคนที่พยายามขายทางออกสำหรับธุรกิจให้กับลูกค้า มองเห็นโอกาสล่วงหน้าได้ก่อนใคร ในระบบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุกคนสามารถคิดบนพื้นฐานของแต่ละปัจเจกบุคคล พร้อมแลกเปลี่ยนทางออกที่สร้างสรรค์ไปสู่ผู้อื่นได้
5. เรียนรู้ต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุดที่มาของความรู้อาจได้มาจากการหยิบยืมไอเดียต่าง ๆ มาผสมผสาน หรือคิดค้นใหม่ขึ้นมาเอง บางครั้งความคิดใหม่ก็เกิดขึ้นเมื่อนำความคิดเก่า ๆ 2 ความคิดมารวมกัน ควรยอมรับความเสี่ยงและยอมทำในสิ่งที่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำเสียบ้าง เพราะการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็อาจนำมาซึ่งการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างน่าสนใจ
6. ใช้ประโยชน์จากชื่อเสียง ความโด่งดัง ความมีชื่อเสียงนั้นเรียกได้ว่าเป็นต้นทุนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย นำมาซึ่งค่าตอบแทนทางอ้อมที่ไม่มีวันหมด ในรูปของความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้สูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยเติมความมีชีวิตชีวาและเติมไฟให้กับการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี
7. ปฏิบัติต่อสิ่งเสมือนจริงให้เป็นจริง เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้คุณค่า และดึงประโยชน์จากเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างสรรค์ธุรกิจให้ก้าวสู่เป้าหมายของความสำเร็จให้จงได้
8. พื้นฐานจิตใจที่ดี มีเมตตา เชื่อหรือไม่ว่าความเมตตากรุณาอาจเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ ในรูปแบบที่เรียกว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคม” พื้นฐานจิตใจที่ดี นึกถึงผู้คนรอบข้างให้มากขึ้น ส่งต่อความรู้สึกและปฏิบัติที่ดีถึงผู้อื่น สามารถสร้างเครือข่าย สร้างความเชื่อมั่น สร้างผลตอบรับในเชิงบวก นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อีกมากมาย
9. ชื่นชมความสำเร็จอย่างเปิดเผย นักสร้างสรรค์ที่ดีต้องชื่นชมความสำเร็จของตนเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือจัดการกับความล้มเหลว เรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น ไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกด้านลบที่เกิดจากความไม่สมหวังหรือพ่ายแพ้…แพ้ให้เป็น ล้มบ้างก็ได้ ท้อได้แต่ไม่ถอย ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลอย่างแน่นอน
10. มีความทะเยอทะยานสูง ผู้ประกอบการต้องมีความรู้สึกต้องการอย่างแรงกล้าในการทำธุรกิจมีความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน หากไม่มีความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ก็จะไม่มีพลังผลักดันให้ผู้ประกอบการลุกขึ้นมาดำเนินการหรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จนบรรลุเป้าหมาย
11. สนุกสนาน ร่าเริง หลักการง่าย ๆ ของความคิดสร้างสรรค์ คือ “การเล่น” การทำเรื่องเล่น ๆ เรื่องสนุกสนานให้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง หรือกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนปรารถนา ใช้ความสุขเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน สร้างสิ่งพิเศษได้อย่างไม่น่าเชื่อ สะท้อนสู่ผลงานที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ได้ถึงประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจ
ขอบคุณแหล่งที่มา: jobsDB.com