ไทยแลนด์ 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยที่มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อปรับแก้ จัดระบบ ปรับทิศทาง และสร้างหนทางพัฒนาประเทศให้เจริญ สามารถรับมือกับโอกาสและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ ที่เปลียนแปลงอย่างเร็ว รุนแรงในศตวรรษที่ 21 ได้ Digital Entrepreneur เฟืองตัวสำคัญเพื่อก้าวสู่ Thailand 4.0
ดังนั้นประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาทางด้านวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดในกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ซึ่งเป็นที่มาของการเกิด Digital Entrepreneur เพราะเป็นการมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดเป็นสินค้าและบริการบนพื้นฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรมผสมผสานเข้ากับการทำธุรกิจ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ได้เห็นความสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้กับธุรกิจดิจิทัลในกลุ่มคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และพร้อมให้การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรม และทำให้เกิด Digital Entrepreneurship ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเติบโตและประสบความสำเร็จในธุรกิจได้ โดย depa มีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการดิจิทัล ดังนี้
1. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอมอี และโอทอปใช้แพลตฟอร์ม CMS (Channel Management System) เป็นแพลตฟอร์มที่ทางสำนักงานฯ ได้สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs OTOP รวมถึงวิสาหกิจชุมชนมีความเข้าใจในการพัฒนาศักยภาพในการขายของรวมถึงการเพิ่มช่องทางการค้าขายออนไลน์ โดยสามารถกระจายสินค้าของตนเองไปยัง E Market Place ต่างๆ ได้ภายในคลิกเดียว รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลของสินค้าก็ทำได้ง่ายขึ้นผ่านระบบ Channel Management System หรือ CMS
2. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการจดแจ้งลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาสำนักงานได้สร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาให้กับกลุ่มประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ที่อยู๋ในกลุ่มอุตสาหกรรม โดยได้ร่วมมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่ออบรม สัมมนา ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องรวมถึงความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลงทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นทุน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ยุค Thailand 4.o
3. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำนักงานสร้างความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่มีการอนุมัติโครงการค้ำประกันผู้ประกอบการในวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ Digital Startup และ กลุ่มผู้ประกอบการ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ
4. การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่สำคัญในการส่งเสริม และพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ โดยการขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองความมีตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ อีกทั้งสำนักงานยังสามารถอัปเดตข้อมูลของผู้ประกอบการเพื่อนำมาขยายผล วิเคราะห์ หาแนวทางการส่งเสริมแก่กลุ่มผู้ประกอบการในอนาคตได้อีกด้วย
5. การผลักดันส่งเสริมให้เกิดดิจิทัลสตาร์ทอัพ ผ่านการสร้างนักคิดนักพัฒนาสินค้าและบริการดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และการดำเนินธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้พัฒนาเทคโนโลยี ผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม และนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการดำเนินธุรกิจแบบดั้มเดิม สู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจของไทยให้สามารถปฏิรูปสู่ Thailand 4.0 ได้อย่างครบวงจร โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการดิจิทัลที่สำนักงานได้เข้าให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จะเป็นหนึ่งในกลไลสำคัญที่จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของประเทศรายได้ปานกลาง และก้าวสู่ “การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด
ขอบคุณที่มา : www.depa.or.th