ทำเว็บให้สวยยังไง? นี่คือคำถามที่เจ้าของเว็บหลายๆ คนกำลังมองหาคำตอบ ซึ่งก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า จำนวนเว็บไซต์ที่มีอยู่บนโลก ณ ตอนนี้คือ 1,805,260,010 เว็บไซต์ (ข้อมูลจาก Netcraft January 2018 Web Server Survey) ใครที่กำลังทำเว็บไซต์ หรือเป็นเจ้าของเว็บไซต์อยู่ในขณะนี้ คุณคือ 1 ในพันล้านของเว็บไซต์ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวน 1.8 พันล้านนี้ จะมีทั้งเว็บไซต์ที่ผู้ชมให้ความสนใจ และเว็บไซต์ที่ไม่มีใครสนใจเลย แล้วความแตกต่างของเว็บสองประเภทนี้อยู่ตรงไหนกัน?
ข้อมูลทางสถิติล่าสุดในปี 2018 เปิดเผยให้เห็นถึงพฤติกรรม และกระแสตอบรับของผู้เข้าชมเว็บไซต์ว่า พวกเขาเหล่านั้นชื่นชอบเว็บไซต์ต่างๆ ด้วยปัจจัย หรือเหตุชี้วัดอะไรบ้าง ซึ่ง Feedback ในส่วนนี้เป็นข้อมูลสำคัญที่คนทำเว็บควรรู้ เพื่อนำไปปรับปรุง และต่อยอดทำให้เว็บไซต์ของเราโดนใจผู้ใช้มากขึ้น แต่การทำเว็บให้สวยจะต้องทำยังไงบ้าง ไปดูกันครับ
ข้อมูลทางสถิติเปิดเผยว่า เวลาเฉลี่ยของผู้เข้าชมเว็บไซต์ที่ตัดสินใจว่า จะอยู่ต่อ หรือ ปิดออกไป อยู่ที่ราวๆ 50 มิลลิวินาที หรือ 0.05 วินาที เท่านั้น (เร็วกว่าการกระพริบตาอีก!) ซึ่งสื่อให้เห็นว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” ลองคิดว่าเว็บไซต์เป็นคนๆ หนึ่ง การจะสร้าง First Impression ได้ รูปลักษณ์ภายนอกเราก็ต้องดูดีไว้ก่อน ดังนั้น ดีไซน์บนหน้าเว็บจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณรอดจากเวลา 0.05 วินาที ที่ชี้เป็นชี้ตายไปได้
Web Design เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงถึงการเข้าชมเว็บไซต์ อย่างที่บอกไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ว่า การสร้าง First Impression ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าผู้ชมไม่ประทับใจเว็บไซต์ตั้งแต่แรกเห็น พวกเขาจะไม่กลับมาอีกเลย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าจะทำให้ผู้ชมอยู่ในเว็บ และการเกิดความพึงพอใจ จงดีไซน์เว็บไซต์ของตัวเองให้ดี
การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีสัดส่วนสูงกว่าการเข้าใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แล้ว! ดังนั้น จากที่เมื่อก่อนเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะต้องออกแบบหน้าเว็บให้พอดีกับหน้าจอ Desktop แต่ในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องมีการปรับดีไซน์ให้เข้ากับหน้าจอของอุปกรณ์พกพาด้วย ซึ่งถ้าเว็บไหนที่เข้าผ่านทางสมาร์ทโฟนแล้วแสดงผลไม่ดีพอ เว็บนั้นก็จะถูกปัดทิ้งไปทันที
ทางแก้ก็คือ การปรับรูปแบบเว็บไซต์ให้เป็นแบบ Responsive Design ที่ตัวเว็บไซต์จะปรับเปลี่ยนขนาด และรูปแบบไปตามอุปกรณ์ที่เปิด เช่น การเปิดบนมือถือจะแสดงผลแบบหนึ่ง ส่วนการเปิดบนแท็บเล็ต หรือ PC ก็จะแสดงผลอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น
ถ้าผู้เข้าเว็บไซต์คุณมาถึงจุดที่เลื่อนดูคอนเทนต์ นั่นหมายความว่า เว็บดีไซน์ของคุณผ่านจุดชี้วัด 0.05 วินาที มาแล้ว! แต่สิ่งที่ต้องดูเป็นอันดับต่อไปก็คือ Layout การจัดวางคอนเทนต์ และรูปแบบของตัวคอนเทนต์เอง ซึ่งผลสำรวจเผยว่า ผู้ชมกว่า 38% จะปิดเว็บทันที ถ้าคอนเทนต์ไม่น่าสนใจ และการจัดวางไม่ดึงดูด ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญรูปแบบ Layout ด้วย
ด้วยความที่โลกออนไลน์มีเว็บไซต์ให้เราเลือกเข้าหลากหลายมาก ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าตนเองมีตัวเลือกมากพอ ทำให้เว็บไซต์ไหนที่ไม่ถูกใจตั้งแต่เปิดครั้งแรก ผู้ใช้ก็จะปิดไปเลย และไม่กลับมาอีก ซึ่งสาเหตุมาจากอะไร? ย้อนกลับไปอ่านได้ใน 4 ข้อแรก
UX เป็นคำย่อของ User Experience หรือประสบการณ์ในการใช้งาน ซึ่งการจัดรูปแบบของหน้าเว็บไซต์ หรือการทำ Interface ที่ไม่ดี และไม่ดึงดูดมากพอ ก็จะทำให้ผู้ชมที่เข้ามา ต้องกด back กลับไปในทันที
ถ้ารูปภาพในเว็บมีขนาดใหญ่เกินไป ก็จะทำให้รูปโหลดช้า หรือถ้ารูปภาพมีปัญหา ก็อาจทำให้รูปไม่ขึ้น ซึ่งปัญหาทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชมกดปิดเว็บไซต์ได้ในทันที ดังนั้น ควรตรวจสอบขนาดรูป และรูปต่างๆ บนเว็บด้วยว่ายังแสดงผลได้ดีหรือไม่
แม้ว่าการใช้รูปภาพขนาดใหญ่จะให้ความละเอียดที่สูง รูปสวย ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์ แต่ด้วยขนาดไฟล์ที่ใหญ่อาจทำให้ผู้ชมที่ใช้เน็ตช้าๆ โหลดรูปไม่ขึ้น ซึ่งการที่รูปรอโหลดอย่างเชื่องช้านั้น จะส่งผลให้ผู้ชมปิดหน้าเว็บออกไปเลยเพราะไม่ต้องการรอ ซึ่งเวลาที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะอดทนรอก็คือ…2 วินาที! ถ้าไม่อยากให้อันดับ SEO ร่วงกระจุยกระจาย จงทำรูปให้โหลดขึ้นมาได้ภายใน 2 วินาที ด้วย
ทำเว็บขายของ เอาสินค้ามาไว้หน้าแรกหมดทุกชิ้น เพราะอยากให้ลูกค้าเห็นสินค้าเยอะๆ, ใส่รูปรีวิวเต็มที่ อยากให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น หรือสร้างหน้าเพจยาวๆ เพื่อให้ดูมีอะไรน่าติดตาม ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะส่งผลกับ Page Speed หรือความเร็วในการโหลดหน้าเพจ และถ้าลูกค้ากดเข้าเว็บมา แล้วหน้าเว็บโหลดช้ามาก คงไม่ต้องเดาคำตอบว่าลูกค้าจะยังรออยู่มั้ย เพราะขนาดแค่รอโหลดรูป ลูกค้ายังรอแค่ 2 วินาที เลย
“การมีเว็บไซต์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร หรือบริษัท” คำกล่าวนี้ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริง เพราะผู้ใช้ส่วนใหญ่จะตัดสินความน่าเชื่อถือของบริษัทนั้นๆ จากการเข้าไปดูเว็บไซต์ เอาง่ายๆ เวลาเราจะช้อปออนไลน์ แล้วไปเจอสินค้าที่น่าสนใจ นอกจากการหารีวิวแล้ว เราก็จะต้องเข้าไปดูสินค้าจากเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นๆ เพื่อตรวจสอบว่า ขายจริงใช่มั้ย มีตัวตนจริงๆ ใช่มั้ย เราจะได้ไม่ถูกหลอก และถ้าแบรนด์ไหนไม่มีเว็บไซต์เพื่อการันตีความต้องการของลูกค้าในจุดนี้ ยอดขายอาจจะหดหายลงไปในทันที
นอกจากการผ่านด่าน 0.05 วินาที, การจัดวาง Layout และรูปภาพมาแล้ว ด่านต่อไปคือ จุดเด่นที่สุดบนหน้าเว็บที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ทันทีว่า เว็บไซต์นี้เป็นใคร และทำอะไร ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ผู้ใช้จะมองมากที่สุด ซึ่งเวลาโดยเฉลี่ยที่พวกเขาจะมองส่วนนี้ก็คือ 2.6 วินาที ดังนั้น จงสร้างจุดสนใจ และอธิบายตัวตนของคุณให้ได้ในเวลา 2.6 วินาที ก็จะดีมาก
สิ่งที่ช่วยดึงดูดสายตาของผู้ชมมากที่สุดเวลาเข้าเว็บไซต์ก็คือ “รูปภาพ” ซึ่งผลสำรวจระบุว่า ผู้ชมจะมองภาพหลักที่ปรากฏขึ้นมาในหน้าแรก (ส่วนใหญ่จะเป็นภาพแรกของเว็บ) ในเวลาเฉลี่ยประมาณ 5.94 วินาที ซึ่งภาพดังกล่าวก็ควรจะต้องเป็นภาพที่สื่อสารกับคนดู และสร้างความเข้าใจในตัวแบรนด์ได้เป็นอย่างดีด้วย
สำหรับเวลาเพียง 5.59 วินาที อาจดูไม่มากนักกับการอ่านตัวหนังสือแบบ skimming แล้วจะเข้าใจทั้งหมด แต่เวลาประมาณนี้ถ้าเรามีตัวช่วยที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้ชมอยู่ในเว็บไซต์เรานานขึ้น นั่นก็คือ การใช้รูป + ตัวหนังสือ สมมติว่า ผู้ชมเข้ามาแล้วต้องการอ่านบทความด้านการตลาด ถ้ามีแต่ตัวหนังสืออย่างเดียว ก็คงดึงดูดคนได้ไม่มาก แต่ถ้าใช้รูปเป็นส่วนประกอบด้วย ก็น่าจะได้ผลมากยิ่งขึ้น และยังอาจทำให้ผู้ชมตัดสินใจคลิกเข้าไปที่เพจอื่นๆ ในหน้าเว็บเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการอีกด้วย
ปุ่ม CTA หรือ Call to Action ถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในด้านการตลาดออนไลน์อย่างมาก เพราะเป็นปุ่มที่ช่วยให้เราคัดกรองผู้ที่สนใจ หรือลูกค้าได้เลย ส่วนรูปแบบปุ่ม CTA ที่จะให้กดนั้นขึ้นอยู่ธุรกิจของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าขายอะไร อย่างเช่น ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมโปรลด 20% ก็อาจจะมีคำโปรยเกี่ยวกับโปรโมชั่น หรือลงท้ายด้วย ซื้อวันนี้ลดทันที 20% พร้อมปุ่มด้านล่างที่มีคำว่า ซื้อเลย! อย่างนี้เป็นต้น
เวลาทำคอนเทนต์ลงใน Blog หรือหน้าบทความ ควรมีการจัดวางรูปภาพ หรือคลิปวิดีโอที่ช่วยให้ผู้ชมสลับพฤติกรรมจากการอ่านเป็นการดูบ้าง เพราะผู้ชมจำนวนกว่า 2 ใน 3 ชื่นชอบบทความที่ไม่ได้มีแค่ตัวหนังสืออย่างเดียว นอกจากนี้ ลักษณะการเขียนควรจะต้องเป็นการเขียนที่ย่อยง่าย อ่านแล้วเข้าใจได้ไม่ยาก และไม่ซับซ้อนจนเกินไป จึงจะสามารถดึงดูดผู้ชมให้อยู่กับเราต่อได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าตาการออกแบบของเว็บไซต์ส่งผลต่อผู้ชมอย่างมาก เพราะ First Impression จากผู้ใช้กว่า 94% มีปัจจัยเรื่องการดีไซน์เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะการใช้งาน, การจัดวางคอนเทนต์, Navigation Site หรือรูปภาพประกอบ
ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็น Layout, Font, รูปภาพ, การใช้สี ฯลฯ ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการทำให้ผู้ชมประทับใจในแรกเห็นทั้งสิ้น
จะเห็นได้ว่าการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมานั้นอาจจะไม่ยาก แต่การออกแบบ และวางโครงสร้างสำหรับเว็บไซต์ของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า ดังนั้น ควรวางแผนการออกแบบเว็บไซต์ให้ดีที่สุด อย่าคิดแค่ว่าเว็บไซต์เป็นเพียงเทคโนโลยีหนึ่งที่ไม่มีความสำคัญ เพราะถ้าหากคุณทำเว็บไซต์ได้ถูกต้อง และโดนใจลูกค้า รับรองว่าธุรกิจของคุณจะเติบโตไปได้ไกลอย่างแน่นอน
ที่มา: makewebeasy.com